Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 5 August 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 5 August 2024

ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงตึงเครียด ท่ามกลางอุปสงค์จีนอ่อนแอ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 77-87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 5 August 2024

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (5 ส.ค.-9 ส.ค. 67) 

ราคาน้ำมันดิบผันผวนต่อเนื่อง หลังสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง อาจลุกลามเป็นวงกว้าง ขณะที่ FED คาดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเดือน ก.ย. 67 นอกจากนี้กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ จัดซื้อน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อเติมคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันจีนในครึ่งหลังของปี 67 คาดจะลดลงจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังอ่อนแอ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

- สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางมีความรุนแรงมากขึ้น และอาจลุกลามเป็นวงกว้าง หลังล่าสุดนายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาสถูกอิสราเอลสังหารในอิหร่าน เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา หลังอิสราเอลได้เข้าโจมตีกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 โดยการโจมตีมุ่งเป้าสังหารผู้บัญชาการของกลุ่ม Hezbollah ที่นำทีมปฏิบัติการโจมตีสนามฟุตบอลในเมือง Majdal Shams เขตที่ราบสูง Golan ที่อิสราเอลผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมื่อ 27 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา
 

- กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (Department of Energy: DOE) จัดซื้อน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เพื่อเติมคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณรวม 4.65 ล้านบาร์เรล โดยรับมอบที่คลัง Bayou Choctaw ในรัฐ Louisiana ในช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค. 67 ทั้งนี้ ปัจจุบัน DOE ได้ซื้อน้ำมันดิบคืนเข้า SPR รวมอยู่ที่ 43.25 ล้านบาร์เรล ด้วยราคาเฉลี่ย 77 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล จากที่ขายออกไปในปี 2565 ที่ระดับ 180 ล้านบาร์เรล

- อุปสงค์ทั่วโลกยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจจากจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก คาดว่าการกลั่นน้ำมันของจีนในครึ่งหลังของปี 67 จะลดลง 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องใช้น้ำมันในประเทศที่ลดลง นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนลดลงสู่ระดับ 49.8 เดือน ก.ค. 67 ต่ำกว่าเดือน มิ.ย. 67 ที่ระดับ 51.8 โดยต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 และต่ำกว่านักวิเคราะห์ที่คาดไว้ที่ระดับ 51.5

- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยผลสำรวจตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร (Job Openings and Labor Turnover Survey: JOLTS) ในเดือน มิ.ย. 67 ลดลง 50,000 ตำแหน่ง เทียบกับช่วงเดียวกันของเดือน พ.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 8.18 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มใกล้เคียงที่ระดับ 2% ตามเป้าหมายในระยะยาว อาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าช่วงเดือน ก.ย. 67 เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ แม้ล่าสุด ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมที่ระดับ 5.25-5.50% เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 ก็ตาม


 

 

 

- การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 ส.ค. 67 ตลาดยังคงคาดว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่อแผนการผ่อนคลายการลดกำลังการผลิตที่จะเริ่มในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 67 เป็นต้นไป ขณะที่หลายประเทศในกลุ่ม เช่น รัสเซีย อิรัค คาซัคสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน เตรียมปรับลดการผลิตให้ Compliance มากขึ้นในช่วงปี 68

- ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือน ก.ค. 67 ตัวเลขนำเข้าและส่งออก เดือน มิ.ย. 67 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเดือน ก.ค. 67 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ก.ค. 67 และตัวเลขนำเข้าและส่งออก เดือน ก.ค. 67
 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 ก.ค.-2 ส.ค. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.64 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 73.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.32 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 76.81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 79.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังเศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอ โดยล่าสุดจีนคาดค่าการกลั่นน้ำมันในครึ่งหลังของปีจะลดลง จากความต้องใช้น้ำมันในประเทศที่ลดลง รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 50 เดือน ก.ค. 67 โดยต่ำกว่านักวิเคราะห์ที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางมีความรุนแรงมากขึ้น หลังผู้นำฮามาสได้ถูกลอบสังหาร ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดน้ำมัน ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตึวขึ้น หลังสหรัฐฯ อาจมีมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซุเอลาที่เข้มงวดขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งของเวเนซุเอลาบ่งชี้ว่า นายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเวเนซุเอลา ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัย โดยผลการเลือกตั้งดังกล่าวขัดแย้งกับเอ็กซิตโพล (Exit Poll) นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 26 ก.ค. 67 ลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 433 ล้านบาร์เรล ลดลงอย่างต่อเนื่อง 5 สัปดาห์ และเป็นระยะเวลานานที่สุดตั้งแต่ ม.ค. 64