เวสต์เทกซัส 71.93 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 76.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (22 ส.ค. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงกว่า 1 ดอลลาร์ หลังสหรัฐฯ ปรับลดตัวเลขการจ้างงาน
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
(-) ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่องกว่า 1 ดอลลาร์ หลังสหรัฐฯปรับลดตัวเลขการจ้างงานรวมในช่วงเดือน เม.ย. 66 - มี.ค. 67 กว่า 818,000 ตำแหน่งซึ่งเป็นการปรับลดการประเมินตัวเลขจ้างงานลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 52 สะท้อนตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้าส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
(+/-) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มสูงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายเดือน ก.ย. 67 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจและบั่นทอนความต้องการน้ำมันดิบ
(+) ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุน หลังสํานักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขนํ้ามันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจําสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ส.ค. 67 ปรับลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 426 ล้านบาร์เรลโดยปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงที่ระดับ 2.7 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากตัวเลขการนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนิเซียปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.75% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแตะระดับ 1.2 ล้านตันในเดือน มิ.ย. 67 สะท้อน อุปสงค์น้ำมันเบนซินในประเทศปรับตัวดีขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดีเซลของอินโดนิเซียปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเทียบกับเดือนก่อนหน้าแตะระดับ 0.87 ล้านตันในเดือน มิ.ย. 67 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตารอโควต้าการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนซึ่งคาดว่าจะประกาศในเดือน ก.ย. 67