Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 26 August 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 26 August 2024

ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง รวมถึงเศรษฐกิจจีนอ่อนแอกดดันอุปสงค์น้ำมัน แม้ตลาดคาดเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72-82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 26 August 2024

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 ส.ค. - 30 ส.ค. 67) 

ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซามีความคืบหน้ามากขึ้น รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องกดดันความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกน้ำมันดิบจากคาซัคสถานที่ปรับลดลงจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ยังต้องจับตาดูดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่เฟดใช้พิจารณาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และท่าทีของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

- สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางมีแนวโน้มผ่อนคลายลง โดยล่าสุดตลาดจับตาท่าทีของกลุ่มฮามาสหลังอิสราเอลได้ตอบรับข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซาเป็นที่เรียบร้อยในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีการเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสเห็นชอบต่อข้อตกลงดังกล่าว รวมถึงกล่าวเพิ่มเติมว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะช่วยยุติการสู้รบในฉนวนกาซา ส่งผลให้ตลาดคลายกังวลเรื่องผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของกลุ่มฮามาสออกมาประกาศว่ากลุ่มฮามาสไม่เคยได้รับหรือเห็นด้วยกับข้อเสนอหยุดยิงที่นายบลิงเคนกล่าวก่อนหน้านี้ก็ตาม
 

 

 

- ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันหลังตัวเลขเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้า โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงานการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นจีนเดือน ก.ค. 67 ปรับลดลง 6.1%เทียบปีก่อนหน้าสู่ระดับ 13.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 65 จากอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับลดลง นอกจากนี้ ตัวเลขส่วนต่างกำไรจากการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่ระดับต่ำยังคงกดดันผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปทำให้ไม่สามารถส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากเท่าที่ตลาดคาดก่อนหน้า ทั้งนี้ ตลาดคาดว่าตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ส.ค. 67 ที่จะออกมาในสัปดาห์นี้จะยังคงต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและกดดันความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ

-  ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบจากคาซัคสถานยังคงตึงตัวในเดือน ส.ค. 67 หลังตลาดคาดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่อขนส่งน้ำมัน Caspian Pipeline Consortium (CPC) ผ่านท่าส่งออกในทะเลดำของรัสเซียในเดือน ส.ค. 67 ปรับลดลง 9% เทียบเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 1.02 ล้านบาร์เรลต่อวันจากการปิดซ่อมบำรุงของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Tengiz ที่มีกำลังการผลิตราว 0.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

- ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ (30 ส.ค.) ซึ่งดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้ในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ผลการสำรวจของ Reuters Poll คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้งในปี 67 โดยเริ่มปรับลดตั้งแต่เดือน ก.ย. 67 พ.ย. 67 และ ธ.ค. 67 ครั้งละ 0.25% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและหนุนความต้องการใช้น้ำมันได้
 

- ด้านสงครามรัสเซียยูเครนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีรัสเซียประกาศปิดช่องทางการเจรจากับยูเครน หลังกองทัพยูเครนเข้ายึดเมืองเคิร์สก์ของรัสเซียและทำลายสะพานข้ามแม่น้ำเซมที่รัสเซียใช้ในการขนส่งกองทัพและอาวุธ ถือเป็นการลดทอนศักยภาพของรัสเซียในการตอบโต้การรุกคืบของยูเครน นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายูเครนยังมีการใช้โดรนเข้าไปโจมตีกรุงมอสโกนับเป็นการโจมตีด้วยโดรนครั้งใหญ่ในเมืองหลวงของรัสเซีย ทั้งนี้ รัสเซียได้กล่าวว่าการรุกรานเมืองเคิร์สก์เป็นการยั่วยุครั้งใหญ่และจะมีการตอบโต้อย่างสาสม ส่งผลให้ตลาดกังวลเรื่องผลกระทบอุปทานน้ำมันดิบ

-  ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีจีดีพีไตรมาส 2/67 (ไตรมาสต่อไตรมาส) รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบีเดือน ส.ค. 67 ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลเดือน ก.ค. 67 และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานเดือน ก.ค. 67 เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 67 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ส.ค. 67 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ส.ค. 67 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิตเดือน ส.ค. 67

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 ส.ค.- 23 ส.ค. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 74.83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.66 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 79.02 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากการเดินทางไปเยือนอิสราเอลของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อผลักดันการเจรจาหยุดยิงและส่งสัญญาณเชิงบวก นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลเรื่องวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีน เนื่องจากตัวเลขราคาบ้านใหม่ปรับลดลงมากสุดในรอบ 9 ปี โดยรายงานราคาบ้านใหม่ของจีนใน 70 เมืองใหญ่ ในเดือน ก.ค. 67 ปรับลดลง 4.9% เทียบปีก่อนหน้าและลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 58 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ก.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 5.1% เทียบปีก่อนหน้าและต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว ด้านเศรษฐกิจสหรัฐเองยังคงถูกกดดันจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงเดือน เม.ย. 66 - มี.ค. 67 ที่ปรับลดกว่า 818,000 ตำแหน่ง ถือเป็นการปรับลดการประเมินตัวเลขจ้างงานลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 52 สะท้อนตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ยังคงมีแรงหนุนหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ส.ค. 67 ปรับตัวลดลงกว่า 4.6 ล้านบาร์เรลสู่ระดับ 426 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ตัวเลขการนำน้ำดิบเข้ากลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ตลอดจนกำลังการผลิตของโรงกลั่นในสหรัฐฯ มีทิศทางปรับเพิ่มตัวขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและช่วยลดความกังวลของตลาดเรื่องสภาวะเศรษฐกิจถดถอย