MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 26-30 สิงหาคม 2567
เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ ขณะที่หุ้นไทยย่อตัวท้ายสัปดาห์ แต่ยังปิดบวกได้เป็นสัปดาห์ที่ 3
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนก.ย. นี้ ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนตามแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ และแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสัญญาณที่ตึงเครียดมากขึ้นในตะวันออกกลางประกอบกับตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (US GDP+3.0% QoQ, saar ในไตรมาส 2/2567 สูงกว่าตลาดคาดที่ +2.8% และสูงกว่า +1.4% ในไตร
มาส 1/2567)
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าและทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามทิศทางเงินหยวนที่แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 ปีในตลาด Offshore ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนในช่วงก่อนการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐฯ ในช่วงตลาดนิวยอร์กวันศุกร์
• ในวันศุกร์ที่ 30 ส.ค. 2567 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 ส.ค. 67) สาหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,179 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,936 ล้านบาท (แม้ซื้อสุทธิพันธบัตร 186 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2,122 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนส.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น จีน อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยเข้าสู่โหมดพักฐาน หลังปรับตัวขึ้นติดต่อกันหลายวันทำการ
หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ นำโดย หุ้นวัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก โดยมีแรงหนุนจากการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด และรายงานข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของกองทุนวายุภักษ์ ก่อนจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบจนถึงช่วงกลางสัปดาห์หลังจากปรับตัวขึ้นติดต่อกันมา 7 วันทำการ และตลาดตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควรแล้ว
หุ้นไทยย่อตัวลงต่อเนื่องในเวลาต่อมาตามแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยเป็นการเทขายเพื่อลดความเสี่ยงก่อน MSCI Rebalance ที่มีผลในวันที่ 30 ส.ค. นี้ นำโดย หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ รายหนึ่งที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยขยับขึ้นได้เล็กน้อยช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาคขานรับตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 2/2567 ที่ออกมาดีกว่าคาด
• ในวันศุกร์ที่ 30 ส.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,359.07 จุด เพิ่มขึ้น 0.31% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,890.75 ล้านบาท ลดลง 9.22% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.59% มาปิดที่ระดับ 327.47 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (2-6 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,340 และ 1,330 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย ประเด็นการเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนส.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนส.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ของยูโรโซน