เวสต์เทกซัส 69.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 72.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (6 ก.ย. 67) ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับต่ำ หลังนักลงทุนกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ และ OPEC+ ชะลอการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอีก 2 เดือน
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
(-) ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับต่ำ หลังนักลงทุนยังคงกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับลดลง โดยนักวิเคราะห์ของ UBS ระบุว่า รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือ Beige Book แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขยายตัวช้าลง และความเสี่ยงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น
(-) OPEC+ ตัดสินใจที่จะชะลอแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 2 เดือน และระบุว่าอาจมีการหยุดผลิตชั่วคราวหรือเปลี่ยนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบหากจำเป็น นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จากบริษัท Jefferies ซึ่งเป็นบริษัทธนาคารเพื่อการลงทุนของสหรัฐฯ กล่าวว่าการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC+ อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ตึงตัวขึ้นประมาณ 0.1-0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
(+) สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ส.ค. 67 ปรับลดลง 6.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 418.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 1.0 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบทรงตัว หลังอุปสงค์น้ำมันเบนซินของไต้หวันในเดือน ก.ค. 67 ปรับลดลง 3.7% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันเบนซินของจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากช่วงเทศกาลหยุดยาว หรือ Golden Week ในช่วงต้นเดือนหน้า
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบทรงตัว หลังสต็กน้ำมันดีเซลของไต้หวันปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดีเซลของรัสเซียในเดือน ส.ค. 67 ปรับลดลง 16% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับ 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 66