เวสต์เทกซัส 68.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 71.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (13 ก.ย. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังพายุเฮอร์ริเคนกระทบแหล่งผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
(+) ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2% หลังพายุเฮอร์ริเคน Francine ส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในอ่าวเม็กซิโก ล่าสุดสำนักงานนิรภัยและการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (BSEE) รายงานว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ กว่า 0.73 ล้านบาร์เรลต่อวันต้องหยุดชะงักลงในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกในเดือน ก.ย. 67 ปรับลดลงราว 5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
(+) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 3.5% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในรอบปีภายหลังอัตราเงินเฟ้อในเขตยูโรโซนมีทิศทางปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดคาดอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและหนุนความต้องการใช้น้ำมัน
(-) สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันในปี 67 โดยคาดว่าจะเติบโตเพียง 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังความต้องการใช้น้ำมันในจีนปรับลดลงต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวและความต้องการใช้เชื้อเพลิงพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ ยังคงซบเซาเช่นกัน
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบหลังสต็อกน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ก.ย. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรลสะท้อนอุปสงค์ในสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี อุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นจากการที่โรงกลั่นเอเชียอาจพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตหลังค่าการกลั่นปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบหลังอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4/67 หลังโรงกลั่นจีนประกาศปิดซ่อมบำรุงในวันที่ 8 ต.ค. 67 เร็วขึ้นจากกำหนดการเดิมในเดือน พ.ย. 67 อย่างไรก็ดี อุปสงค์น้ำมันดีเซลอินเดียเดือน ส.ค. 67 ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนจากความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวในช่วงฤดูมรสุม