เวสต์เทกซัส 70.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 72.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ ราคาน้ำมัน (17 ก.ย. 67) ราคาน้ำมันดิบ เวสต์เทกซัส เบรนท์ ปรับเพิ่มจากผลกระทบของ พายุเฮอร์ริเคน คาดปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกจากการประชุมเฟด
วิเคราะห์สถานการณ์ ราคาน้ำมัน (17 ก.ย. 67) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน
(+) ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบในบริเวณอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ กว่า 0.21 ล้านบาร์เรลต่อวันยังคงหยุดดำเนินการจากเหตุพายุเฮอร์ริเคน Francine พัดถล่มในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สํานักงานนิรภัยและการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (BSEE) คาดเหตุการณ์นี้ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สูญหายไปกว่า 2.37 ล้านบาร์เรล
(+/-) ตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ล่าสุด ตัวเลขผลสำรวจของ CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 62% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ 30% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและหนุนความต้องการใช้น้ำมันได้ แต่อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% อาจสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ กดดันอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันสหรัฐฯ ได้
(-) ตัวเลขเศรษฐกิจจีน ที่ไม่ฟื้นตัวยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมันในจีน ล่าสุด ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน ส.ค. 67 ปรับลดต่อเนื่องแตะระดับ 4.5% ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปรับก็ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน สะท้อนความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ซบเซาและกำไรจากการส่งออกที่ระดับต่ำกดดันผู้ผลิตให้ปรับลดกำลังการผลิต
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทาง ราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดคาดอุปสงค์น้ำมันเบนซินในจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้นในช่วงเทศกาล Golden Week ระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค. 67 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากโควต้าการส่งออกน้ำมันเบนซินจากจีนรอบใหม่ที่คาดว่าประกาศเร็วๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังสต๊อกน้ำมันดีเซลในยุโรปประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 12 ก.ย. 67 ปรับเพิ่ม 4.5% มาอยู่ที่ระดับ 2.55 ล้านตัน แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ก.พ. 66 อย่างไรก็ดี ราคาได้รับแรงหนุนจากการที่โรงกลั่นในเอเชียและยุโรปอาจพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตหลังค่าการกลั่นปรับลดลงต่อเนื่อง