เวสต์เทกซัส 71.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 74.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (20 ก.ย. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ขานรับ FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
(+) ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1% หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในที่ประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันดิบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนมองว่าการปรับลดครั้งใหญ่นี้เป็นสัญญาณของตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ
(+) สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบปี อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบที่ลดลงอาจฟื้นตัวขึ้นในสัปดาห์หน้า เนื่องจากการส่งออกของสหรัฐฯ ที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
(-) ข้อมูลของสำนักงานสถิติแสดงให้เห็นว่าการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นในจีนชะลอตัวลง อีกทั้งการเติบโตของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนยังชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบห้าเดือนในเดือนที่แล้ว สะท้อนเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงและอาจจำกัดความต้องการใช้น้ำมันดิบได้
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนิเซียปรับเพิ่มขึ้น 26.9% จากเดือนก่อนหน้าแตะระดับ 1.5 ล้านตันในเดือน ก.ค. 67 ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5%ซึ่งอาจกระตุ้นอุปสงค์น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดีเซลของอินโดนิเซียในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 89.05% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันแตะระดับ 4.3 ล้านตัน สะท้อนอุปสงค์น้ำมันดีเซลในอินโดนิเซียที่ปรับตัวดีขึ้น