MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2567
เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวลง หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทอ่อนค่ารับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์หลังเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่าลงทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงเงินเยนและเงินหยวนของจีน ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องสอดคล้องกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รับผลการเลือกตั้งซึ่งสะท้อนว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับชัยชนะและเตรียมที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับ
ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติและการปรับตัวลงมาของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามแรงขายทำกำไร (จากที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ รับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ประกอบกับน่าจะมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่กรอบ 4.50-4.75% ในการประชุมรอบล่าสุด 6-7 พ.ย. ที่ผ่านมา
• ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 พ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,641 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 24,489 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 23,687 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 802 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินหยวน รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของอังกฤษด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และทยอยปรับตัวลงหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นแรงตามตลาดหุ้นภูมิภาคในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น หลังโอเปคเลื่อนแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีกหนึ่งเดือน ขณะที่ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวขึ้นตามแรงหนุนจากประเด็นเฉพาะตัวด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้า หุ้นไทยย่อตัวลงต่อในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเผชิญแรงขายทำกำไรหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง หลังปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงก่อนหน้านี้
• ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,464.69 จุด เพิ่มขึ้น 0.04% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,966.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.71% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.74% มาปิดที่ระดับ 335.71 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (11-15 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,445 และ 1,435 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,475 และ 1,485 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของบจ.ไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม