เวสต์เทกซัส 68.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เบรนท์ 71.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (13 พ.ย. 67) ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังกลุ่ม OPEC+ ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันของโลก ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายทรัมป์
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
(-) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนท์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในรอบสองสัปดาห์ หลังกลุ่ม OPEC+ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปีนี้เทียบกับปีก่อนหน้าที่ระดับ 1.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 1.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากอุปสงค์ของจีนที่ปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่คาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2568 ก็ปรับลดเช่นกัน โดยลดลงจาก 1.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน
(-) ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดัน จากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในจีน โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 พ.ย. 67) ทางการจีนประกาศมาตรการสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงิน 10 ล้านล้านหยวน อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์มองว่านโยบายดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
(+/-) ตลาดจับตามองนโยบายทางการต่างประเทศภายใต้การนำโดยรัฐบาลใหม่ของทรัมป์ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ทรัมป์อาจเลือก มาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมามีนโยบายที่ค่อนข้างเข้มงวดต่อประเทศที่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ เช่น จีน อิหร่าน และคิวบา ขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจปรับเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากตัวเลขการผลิตน้ำมันเบนซินของมาเลเซียในเดือน ก.ย. 67 ที่ปรับลดลงกว่า 9.73% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงกดดัน จากอุปทานน้ำมันเบนซินของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมัน Cosmo Oil ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในประเทศกลับมาดำเนินการผลิต หลังปิดซ่อมบำรุงไปในช่วงก่อนหน้า
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการส่งออกของเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขการผลิตน้ำมันดีเซลของมาเลเซียในเดือน ก.ย. 67 ที่ปรับลดลงกว่า 6.38% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า