ตลาดหมีครั้งนี้อาจไม่เหมือนครั้งก่อน
เรียกได้ว่าในปี 2022 นี้เป็นปีที่เป็นช่วงที่ตลาด Cryptocurrency เข้าสู่ภาวะตลาดหมีแบบเต็มตัว ซึ่งจะว่าไปแล้วสัญญาณของการเข้าสู่ตลาดหมีนั้นเริ่มตั้งแต่ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ราคาของ BTC เริ่มปรับตัวลงพร้อมกับหุ้นเทคฯสหรัฐ
จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เริ่มส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยและ QT ตามมาด้วยเหตุสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 แต่ว่าราคาของ Cryptocurrency ก็ยังไม่ได้ปรับตัวลงมากนัก อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2022 ที่เกิดเหตุการณ์ Terra Blockchain ล่มสลายกลายเป็นเหตุการณ์จุดฉนวนทำให้ราคาของ Cryptocurrency ตกลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบต่างๆ มากมาย เช่น สภาวะของ Macroeconomics ที่ยังคงอยู่ในช่วงเงินเฟ้ออย่างหนัก และความกังวลเกี่ยวกับ Recession โดยที่ Fed กำลังอยู่ในช่วงปรับขึ้นดอกเบี้ย และทำ Quantitative Tightening และภาพรวมตลาดยังคงมีความกังวลจากเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจตามมาจากการล่มสลายของเหล่า Venture Capital และแพลตฟอร์ม CeFi รายใหญ่อย่างเช่น Three Arrows Capital, Celcius, BlockFi และ Voyager เป็นต้น
จากเหตุการณ์ และข่าวร้ายทั้งหมดที่ถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กัน ทำให้ภาพรวมของตลาด Cryptocurrency นั้นไม่สู้ดีนัก และอาจทำให้นักลงทุนหลายคนไม่แน่ใจว่าจะสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งการที่จะเข้าใจในตลาดหมีในรอบนี้มากขึ้น หรือจะสามารถตัดสินได้ว่าตลาดจะฟื้นกลับมาได้หรือไม่ เราอาจจะต้องย้อนกลับไปมองภาพตลาดหมีในครั้งก่อนหน้าในปี 2018 เพื่อเปรียบเทียบทั้งสองกรณี
- เปรียบเทียบกับตลาดหมีในปี 2018
ถ้าเปรียบเทียบตลาดหมีรอบนี้กับในปี 2018 จะเห็นว่าครั้งนี้แตกต่างออกไปมากเพราะเริ่มมีการใช้งานจริง เช่น DeFi, NFT, GameFi, Metaverse, DAOs ที่ต่างก็เริ่มมี Use Case ที่จับต้องได้ ไม่ได้มีแค่การเก็งกำไรแบบไร้ปัจจัยพื้นฐานแบบในปี 2018 ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ DeFi ที่มีการใช้งานได้จริงเกิดขึ้นมากมายจำนวนหลายพัน DApps และมี TVL ที่เติบโตขึ้นโดย ณ วันที่ 6 กันยายน 2022 มี TVL อยู่ที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเมื่อปลายปี 2018 ที่มี TVL เพียงประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาของ Blockchain Layer 1 ต่างๆ เช่น Solana, Avalanche, Binance Smart Chain ที่ต่างสร้างจุดขายเรื่องของความเร็วในการทำธุรกรรม และราคา Gas Fee ที่ถูกกว่า Ethereum นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Layer 2 เกิดขึ้นที่จะมาแก้ปัญหาของการ Scaling และ Gas fee ของ Ethereum เช่น Optimism, Arbitrum, ZkSync, Polygon, Immutable X โดย ณ วันที่ 6 กันยายน 2022 มี TVL บน Layer 2 ทั้งหมดมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในรอบนี้เรายังได้เห็นการเริ่มเข้ามาลงทุนจากสถาบัน, Venture Capitcals และบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยในปี 2018 มีเงินลงทุนจาก VCs เพียงประมาณ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับในปี 2021 ที่มีเงินลงทุนกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีบางประเทศเริ่มมีการใช้งาน Crypto แบบถูกกฎหมาย จากเหตุผลทั้งหมดทำให้เห็นได้ว่าตลาดรอบนี้แตกต่างกับในรอบปี 2018 โดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจทำให้ตลาดหมีรอบนี้อาจไม่ลงลึกหรือกินเวลายาวนานเท่า เหลือเพียงคำถามที่ว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อไหร่เท่านั้น
- ตลาดถึงจุดต่ำสุดหรือยัง
หากดูจาก Sentiment ตลาดจะเห็นว่าอยู่ในขั้นแย่มากเพราะ Fear & Greed Index ในเดือนสิงหาคม 2022 ลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 พร้อมกับสัญญาณต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าตลาดน่าจะ Bottom แล้ว เช่น BTC ถูก Oversold มากที่สุดในประวัติศาสตร์จนหลุดแนวรับสำคัญ โดยที่ RSI <30 ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2018
อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่า Macro Trend อาจกลับตัวได้ เช่น ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่อาจถูกแทนด้วยความเสี่ยง Recession ซึ่งอาจทำให้ Fed มีการเปลี่ยนแปลง Monetary Policy ไปเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราดูในปี 2018 จุด Bottom ของ BTC นั้นเกิดขึ้นเมื่อ Fed ได้ผ่อนคลายนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยนั่นเอง ดังนั้นคำถามต่อไปคือแล้ว Fed จะผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่? โดยถ้าเราย้อนไปดูสถิติในอดีตในปี 1974, 1989 และ 2008 ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงปีที่เกิดเงินเฟ้อสูงสุดในประวัติศาสตร์ Fed ทำการลดดอกเบี้ยก่อนที่ Inflation จะทำจุดสูงสุดเสียอีก ดังนั้นในรอบนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่า Fed จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังไม่ลดลงก็ตาม
อีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจนำมาพิจารณาประกอบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของ Fed คือดัชนี ISM Manufacturing PMI ซึ่งเราสามารถศึกษาสถิติผ่านเหตุการณ์ในอดีตได้ ซึ่งหากดูตั้งแต่ปี 1974 จนถึงปี 2019 เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่ค่า ISM ลดลงอยู่ในช่วง 50 แล้ว Fed จะลดการขึ้นดอกเบี้ยมาแทบโดยตลอด ตอนนี้ค่า ISM ของเดือนสิงหาคม 2022 มีค่าอยู่ที่ 52.8 ซึ่งลดลงจาก 53 ในเดือนก่อนหน้า ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า Fed อาจจะลดการขึ้นดอกเบี้ยได้
ถึงแม้จะมีหลายปัจจัยที่ชี้ว่าตลาดอาจ Bottom แล้วดังที่กล่าวไปข้างต้น เรามาลองดู Worst Case Scenario ในกรณีถ้าตลาดยังไม่ Bottom และถ้าสมมติว่าตลาดในรอบนี้ไม่ได้ต่างกับในรอบปี 2018 นั่นหมายความว่าในรอบนี้ ราคาของ BTC อาจจะลงได้อีกประมาณ 50% ส่วน ETH จะลดลงได้อีกราวๆ 70% โดยถ้าจะตัดสินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ไหม เราคงจะต้องไปลองดูถึงปัจจัยที่ทำให้ตลาดตกลงมาอย่างหนักในรอบนี้ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งประกอบไปด้วย วิกฤติที่เกิดขึ้นกับบรรดา CeFi และ VCs โดยในเดือนมิถุนายน ราคาเหรียญ ETH ลดลงมากกว่า 50% เพราะ stETH ที่ลดลงต่ำกว่าราคา ETH ทำให้ Celsius และ 3AC ที่นำ stETH ไปค้ำประกันในการกู้บน Lending Protocol เกิดขาดทุน และเกิดปัญหาสภาพคล่อง ทำให้มีการเทขาย stETH จำนวนมาก บวกกับความ Panic และยังมีการ Liquidate และ Force Selling บนแพลตฟอร์ม DeFi ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยกดดันตลาดดังกล่าว
โดยถ้าเราดูจาก Liquidation Distribution บนแพลตฟอร์มหลักอย่าง Aave, Maker, Compound จะพบว่าการ Liquidate ใหญ่ๆ จะเกิดที่ ETH ราคา $860, $660, $530 และ $380 ดังนั้นในจุดนี้ถ้าราคา ETH สามารถยืนเหนือ $1000 เราน่าจะไม่ได้เห็นการตกลงของราคาแบบหนักๆ อีก ดังนั้นจากเหตุผลทั้งหมดก็จะเห็นว่าจุดนี้น้ำหนักน่าจะไปทางที่ว่าตลาด Bottom แล้วเช่นกัน
นอกจากนี้อีกหนึ่งความกังวลของตลาดคือ ปัญหาเกี่ยวกับการล้มละลายของ CeFi และ VCs ต่างๆ โดยปัญหาเริ่มต้นที่ Celsius ที่เกิดการขาดทุน ทำให้ต้องปิดการถอนไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน และในช่วงที่ผ่านมายังมีข่าวการยื่นล้มละลายของ 3AC และ Voyager Digital หลายๆ คนอาจกำลังกังวลว่าอาจจะเกิดแรงเทขายสินทรัพย์เพื่อการเตรียมตัวสำหรับการยื่นล้มละลายของสถาบันเหล่านี้สู่ตลาดที่อาจทำให้ราคาตกลงอีกได้
แต่ว่าการซื้อขายสินทรัพย์เหล่านี้มักจะเป็นการซื้อขายแบบ OTC ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อราคาตลาด ยิ่งไปกว่านั้นคือ หากเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็เหมือนได้เคลียร์ปัจจัยใหญ่ที่จะเป็นตัวกดดันตลาดออกไป และน่าจะทำให้ตลาด Cryptocurrency กลับมาได้หลังจากนี้
- การปรับฐานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
บทเรียนหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากตลาดในรอบนี้คือ ถึงแม้เราจะได้เห็นพัฒนาการของโปรเจกต์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่เราก็ยังได้เห็นถึงความล้มเหลว ซึ่งตลาดหมีที่ทำให้เราได้มองเห็นปัญหา และเป็นโอกาสที่จะทำให้เห็นภาพว่าโปรเจกต์แบบไหนที่จะตายไป และโปรเจกต์แบบไหนที่มีโอกาสได้ไปต่อ และยังเป็นช่วงเวลาที่หลายๆโปรเจกต์ที่จะได้เรียนรู้จากความผิดพลาด และพัฒนาเพื่อต่อยอด Product ใหม่ๆ ที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโปรเจกต์ DeFi ต่างๆ ได้ออก Governance Token และได้พยายามสร้าง Utility ต่างๆ แต่ยังมีปัญหา Toxic Liquidity ทำให้สุดท้ายราคาเหรียญ Governance Token ต่างปรับตัวลดลงมากกว่า 80% ดังนั้นตอนนี้จึงน่าสนใจว่าโปรเจกต์ใดที่จะสามารถพัฒนาต่อ และสร้าง Use Case ที่มีความยั่งยืน และทำให้ผู้คนสนใจต่อไปได้ โดยเราก็เริ่มได้เห็นหลายๆ โปรเจกต์ที่พยายามออกมาแก้ ตัวอย่างเช่น Balancer และ Curve ที่พยายามออกแบบ Tokenomics เพื่อสร้างแรงจูงใจในการถือเหรียญมากขึ้น Governance Token ผ่าน ve-Tokenomics ถือเป็นตัวอย่างของทิศทางที่น่าจับตามอง
นอกจากนี้ เรายังได้เรียนรู้จากเหตุการณ์เช่น การล่มสลายของ Terra ว่า Algorithmic Stablecoin มีความเสี่ยงระดับสูง การกระจายความเสี่ยงถือหลาย Stablecoin อาจเป็นเรื่องสำคัญ และไม่มีอะไรที่ Too Big to Fail ในโลกของ Crypto มากไปกว่านั้น ยังทำให้เราเห็นความสำคัญของ Tokenomics ในการเลือกลงทุนในโปรเจกต์ใด เพราะตลาดเข้าสู่ช่วง Bear Market เราก็จะเห็นว่าแรงขายจะมากกว่าแรงซื้อในทุกๆ เหรียญ โดยเฉพาะเหรียญที่มี Tokenomics ที่แย่ก็จะปรับตัวลงมากกว่า
- สรุป
ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครรู้แน่ว่าตลาดจะเป็นยังไงต่อ แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่าพื้นฐานในทุกๆ ด้านของ Cryptocurrency มีความแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าในรอบปี 2018 อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Use Case ต่างๆ รวมถึงการเข้ามาลงทุนของสถาบัน บริษัทขนาดใหญ่ และ VCs ในลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อน และที่สำคัญไปกว่านั้นเรายังเห็นจาก Indicator หลายๆ ตัวที่ชี้ว่าตลาดน่าจะถึงจุด Bottom แล้ว
ดังนั้นในเวลาแบบนี้ อาจเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการศึกษามองหาโอกาสการลงทุนในโปรเจกต์ที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง และจะเอาตัวรอดผ่านตลาดหมีได้ และวางแผนการลงทุนให้พร้อมรับมือในทุกสถานการณที่อาจเกิดขึ้น และในรอบหน้าที่ตลาดกลับมาอาจจะเป็น Bull Run รอบใหญ่กว่าเดิมก็ได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์