สมาคมฟินเทคฯ เปิดมุมมอง “คริปโทนอมิก” “บิตคอยน์” รอบใหม่ผันตาม “หุ้นเทค”
“ฟินเทค” มาจาก “ไฟแนนซ์” รวมกับ “เทคโนโลยี” การนำเอาเทคโนโลยีมาทำให้โลกการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นในยุคอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยี
โดยมี “บล็อกเชน” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง และมี “บิตคอยน์” เป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่นำบล็อกเชนมาใช้ได้อย่างชาญฉลาด สู่การสร้างเศรษฐศาสตร์ของเหรียญที่เรียกว่า“คริปโทนอมิก”
นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวในการอบรมหลักสูตร Wealth of Wisdom” หรือ “WOW” หลักสูตรเพื่อขุมทรัพย์แห่งปัญญา จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และพันธมิตร ว่าปัจจุบัน “บิตคอยน์” ปรับตัวลดลงมากว่า70% จากระดับราคาที่ทำสถิติสูงสุดไว้ และมีหลายคนมองว่าราคาจะปรับตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับเดิมนั้นแต่ส่วนตัวมองว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในโลกการเงิน วิกฤติแต่ละครั้ง ไม่เคยเหมือนกัน
รอบนี้สิ่ง ที่มีความแตกต่างจากเดิมคือ การที่ราคาของ “บิตคอยน์” ปรับตัวลดลงในครั้งนี้เร็ว และแรงกว่าสถิติครั้งก่อนในประวัติศาสตร์มาจาก 2 ปัจจัย คือ
1.ผู้เล่นในตลาดเยอะขึ้นจากที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงตลาดได้มากขึ้นจากทั่วโลก
2.การเทรดฟิวเจอร์สในบิตคอยน์เพิ่มความเสี่ยงได้จากกระบวนการบังคับขาย (ฟอสเซล) และการตัดขาดทุน (สต็อปลอส)เช่นเดียวกับในตลาดหุ้น เมื่อตราสารใดก็ตามที่เริ่มมีการเทรดฟิวเจอร์ส จะมีความผันผวนในตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาลงเร็วกว่าปกติ
รวมทั้ง นักลงทุนมอง “คริปโทฯ” เหมือนกับ “หุ้น” ที่เป็นหนึ่งในสินทรัพย์เสี่ยงเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อพร้อมหลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าในตลาด ยิ่งทำให้มีแรงเทขายคริปโทฯ ฉุดราคาร่วงหนักกว่าในครั้งก่อนๆ ในขณะที่ “บิตคอยน์ฮาฟวิ่ง” ยังคงใช้ระยะเวลา 4 ปีแม้ว่าอัตราแฮช (Hash Rate) หรือค่าการขุดบิตคอยน์จะพุ่งสูงขึ้นก็ตาม
และรอบนี้ พบว่าเมื่อหุ้นเทครีบาวด์ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ราคาบิตคอยน์ ปรับตัวขึ้นจากความสัมพันธ์ของการลงทุนหุ้น และบิตคอยน์ไปในทิศทางเดียวกัน เทียบจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นแนสแด็ก และบิตคอยน์ ที่มีความเชื่อมโยงกันที่ระดับ 0.4-0.5%
"สถานการณ์ครั้งนี้คล้ายกับวิกฤติ Dot-com Bubble ในปี 2000 หุ้นเทคหลายตัวที่มีโมเดลธุรกิจสามารถอยู่รอดในตลาด"
แนสแด็กมาได้เช่น ไมโครซอฟท์และกูเกิ้ล เติบโตเป็นฟินเทคยักษใหญ่ เช่นเดียวกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลตอนนี้ที่มีเหรียญสมาร์ทคอนแทรค สร้างจากการเขียนโปรแกรมรองรับ มองว่าจะสามารถอยู่รอดได้ ส่วนบิตคอนย์ถูกสร้างขึ้นด้วยเศรษฐศาสตร์ของเหรียญจากตัวเลขที่สมมติขึ้น ยังต้องรอดูว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป"
“อนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลรวมเข้ากับสินทรัพย์ดั้งเดิม”
ขณะที่ หากมองอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลไทยจะเป็นเช่นไรนั้น นายชลเดชเชื่อว่าเราจะเห็นการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และสินทรัพย์แบบดั้งเดิมปรับตัวเข้าหากัน จนท้ายสุดหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน
จากการเปิดเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ (Siri Hub Token) ทั้ง 2 กลุ่ม ได้แก่ สิริ ฮับ A (Siri Hub A) และ สิริ ฮับ B (Siri Hub B) เหมือนกับการลงทุนกองรีท (REIT) หรือกองทุนรวมอสังหาฯ ที่มีลักษณะคล้ายหุ้นกู้
ดังนั้น อนาคตอันใกล้หลักเกณฑ์ที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่ ระหว่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์ และพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล สองอย่างนี้จะเข้าหากัน และไม่มีคำว่าสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสินทรัพย์ดั้งเดิมในท้ายที่สุด
โดยตัวกลางทั้งหมดที่อยู่ในระบบการเงิน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ โบรกเกอร์ และผู้จัดการกองทุน จะเข้ามาอยู่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยพัฒนาการของตลาดทุนเชื่อมโยงการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการขอใบอนุญาตใหม่เกี่ยวกับนายหน้าซื้อขายหรือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมทั้งการลงทุนในหุ้นเช่นเดียวกัน ถ้าหุ้นอยู่ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถซื้อหน่วยลงทุนขนาดเล็กได้ลงทุนเป็นเศษโดยไม่ต้องซื้อล็อตละ 100 หุ้น และ “อินเวสเมนต์โทเคน” ที่มีการเปลี่ยนรูปแบบคล้ายกับ สินทรัพย์ดั้งเดิมที่เปลี่ยนมาสู่แบบฟอร์มดิจิทัล
ดังนั้นอินเวสเมนต์โทเคน จะเป็นเทรนด์ตลาดใหม่ในอนาคต ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้น และบอนด์ เริ่มคิดว่าลงทุนในบิตคอนย์อีเธอเรียม และช่วงราคาคริปโทฯ ปรับตัวลงอาจมีนักลงทุนบางส่วนชอบลงทุนในหุ้นกลุ่มฟินเทค แบ่งเงินลงทุนมายังสินทรัพย์ดิจิทัล
สำหรับพอร์ตลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล มองว่า ควรลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี 5-10% ของพอร์ตลงทุนเท่านั้น และอินเวสเมนต์โทเคน ต้องคำนึงถึงโปรเจกต์ที่มีความแข็งแรงเป็นหลัก
“จุดเปลี่ยนที่นักลงทุนเข้ามาเทรดคริปโทฯ มากขึ้นมองว่า ต้องอาศัยโบรกเกอร์หุ้นเพิ่มบริการคริปโทฯ ภายในพอร์ตเดียวกันด้วย”
คาดเก็บภาษีเสนอขายโทเคนดิจิทัล15%กระทบเอสเอ็มอี
ต่อประเด็น “ภาษีการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล”นายชลเดช มองว่าค่อนข้างแก้ยากอาจมีมติเป็นไปตามที่หลายคนคาดไว้ที่ระดับ15% แต่ขอให้ใช้เป็นFinal Tax หรือเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วเพราะถ้าใช้ Final Taxจะส่งผลบวกมากกว่า ช่วยปิดช่องกรณีการกระจายฐานภาษี เช่น การเอาชื่อบุคคลใกล้ชิดที่ไม่ได้ทำงานแล้วมาใช้ชื่อในการเปิดบัญชี
แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลกระทบจากการเก็บภาษีดังกล่าว มองว่าจะมีผลกระทบกับกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความสนใจที่จะออกโทเคนดิจิทัลหรือ ICO อาจไม่คุ้มค่า เพราะเก็บภาษีดังกล่าวที่ 15% ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการระดมทุน ICO
“ มองว่า การระดมทุนด้วย ICO เหมาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ หรือบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เช่นเดียวกับการระดมทุนแบบ IPO ในขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีอาจจะเหมาะกับหุ้นกู้คลาวด์ฟันดิ้งมากกว่า”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์