ศึกชิงบัลลังก์จ้าวแห่ง Smart Contract
หลังจากที่เราคุยกันเรื่องเครือข่าย Ethereum และการอัปเกรดมาเป็น Proof of Stake กันมาสักพักแล้ว ในตอนนี้และอีก 1-2 สองตอนหน้าผมอยากแนะนำและอัปเดตกันเรื่องของโครงการต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า “Ethereum Killers” หรือโครงการที่จะมาโค่น Ethereum ที่เป็นจ้าวแห่ง Smart Contract ในปัจจุบันครับ
หลายโครงการก็มีจุดเด่นของตัวเองและมีความเคลื่อนไหวกันพอสมควร เรามาดูของตอนนี้กันเลยครับ
Cardano (ADA)
Cardano เป็นโครงการบล็อกเชนที่ผู้ก่อตั้งแยกตัวมาจากโครงการ Ethereum เพราะทาง Ethereum อยากเน้นตัวเองเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร แต่ตัวผู้ก่อตั้ง Cardano มองว่าควรทำในเชิงพาณิชย์ด้วย โดยที่ตัวคุณ Charles Hoskinson ผู้ก่อตั้งเครือข่ายก็ได้เปิดบริษัทชื่อ IOG (แต่เดิมชื่อ IOHK) มาเพื่อเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เครือข่ายCardano ร่วมกับ Cardano Foundation และบริษัท Emurgo และตัวเครือข่าย Cardano นี้ก็มีจุดเด่นที่ออกแบบมาเป็น Proof of Stake มาตั้งแต่แรกเลยครับ
ในช่วงท้ายเดือนกันยายนทางเครือค่าย Cardano ก็ได้ทำการอัปเกรด Vasil Hardfork ที่เพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพ รวมทั้งเสริมเรื่องความปลอดภัยและความสามารถของ Smart Contract อีกด้วย ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของเครือข่าย Cardano ในช่วงนี้คือตลาด NFT ที่เหมือนจะดึงทั้งศิลปิน นักเทรด และนักสะสมมาจาก Solana ได้พอสมควร แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะรักษากระแสไว้ได้หรือไม่ครับ
Polkadot (DOT)
Polkadot เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ผู้ก่อตั้งแยกตัวมาจากโครงการ Ethereum เช่นเดียวกัน โดยคุณ Gavin Wood หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Ethereum และเป็น CTO คนแรกของ Ethereum แยกตัวออกมาเมื่อปี 2016 และระดมทุนผ่านการทำ ICO สำหรับ Polkadot ในปี 2017 ครับ
หลายคนเรียก Polkadot ว่าเป็น Ethereum Killer แต่ถ้ามองในอีกแง่แล้วตัว Polkadot มีความแตกต่างจากEthereum ในเชิงโครงสร้างตั้งแต่ระดับพื้นฐานเลย โดยที่ Polkadot จะมีบล็อกเชนกลางชื่อว่า Relay Chain ที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายบล็อกเชนลูกที่เรียกว่า Parachain
ซึ่งผู้ที่ต้องการจะเปิด Parachain จะต้องมาประมูลสล็อตการใช้งานไป หรือหากต้องการใช้ชั่วคราวก็สามารถเปิดParathread ได้ และทาง Polkadot ก็เน้นการสื่อสารข้ามบล็อกเชน โดยได้พัฒนาโปรโตคอลชื่อ XCM (Cross-Consensus Message Format) มาเพื่อการนี้ครับ
ในช่วงปีนี้ไม่ค่อยมีข่าวคราวของตัวเครือข่ายกลางเองนัก แต่ในฝั่งของโครงการที่พัฒนาบน Polkadot และ Kusama นั้นคึกคักเป็นประวัติกาลทีเดียว โดยช่วงนี้โครงการที่เชื่อมกับ Polkadot ที่มีข่าวการเคลื่อนไหวเยอะ ๆ ก็รวมไปถึงAstar Network, Boba Network, Moonbeam Network ครับ
ในตอนนี้ Polkadot และ Kusama ก็มีบล็อกเชนที่พ่วงอยู่ด้วยกว่า 66 บล็อกเชน และทางผู้พัฒนาก็ประกาศว่าจะทำการอัปเกรดโปรโตคอลเพื่อเพิ่มความเร็วและเพิ่มความสามารถในการรองรับธุรกรรมในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วยครับ
Solana (SOL)
Solana เป็นโครงการบล็อกเชนที่ชูธงว่าเน้นความเร็วและความสามารถในการรองรับธุรกรรมได้จำนวนมาก และใช้กลไกการเห็นพ้องที่ไม่เหมือนใครที่เรียกว่า Proof of History ซึ่งดัดแปลงมาจาก Proof of Stake อีกที โดยหนึ่งบล็อกบน Solana จะออกทุก ๆ 400 ms หรือ 0.4 วินาทีเท่านั้น เรียกได้ว่าออกกันถี่มาก ๆ ไปเลย เทียบกับ Bitcoin ที่ออกทุกราว ๆ 4 นาทีหรือ Ethereum ที่ออกทุกราว ๆ 12 วินาทีครับ
ในช่วงปีนี้ตลาด NFT และ DeFi บน Solana ดูค่อนข้างคึกคักพอสมควร และตัวบล็อกเชนก็ยังได้รับความนิยม โดยจำนวนธุรกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ได้แซง Ethereum ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย และในขณะที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ก็มีธุรกรรมบนบล็อกเชนประมาณ 4,500 ธุรกรรมต่อวินาที (tps – transaction per second) ครับ
ในช่วงปีที่แล้วและช่วงต้นปีนี้ตัวเครือข่ายประสบปัญหาค้างอยู่หลายครั้ง ซึ่งบนโลกบล็อกเชนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ครับถ้าเทียบเป็นโลกดั้งเดิมก็คือระบบธนาคารล่ม แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตัว Solana ก็ดูมีหวังมากขึ้น เพราะค้างไปแค่ 3 ครั้งครับ อีกหนึ่งข่าวใหญ่ของเครือข่ายในช่วงกลางปีก็หนีไม่พ้นเรื่องที่มีการแฮ็กและดูดเหรียญออกจาก Slope Wallet ซึ่งมีวอลเล็ตโดนโจมตีไปกว่า 9 พันวอลเล็ต เพราะทางผู้พัฒนาวอลเล็ตส่งข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยไม่เข้ารหัสไปยังเซิร์ฟเวอร์ครับ
Tezos (XTZ)
Tezos เป็นบล็อกเชนที่เรียกได้ว่าเป็นสัญชาติฝรั่งเศสผสมสวิตเซอร์แลนด์ โดยจุดเด่นจะเน้นเรื่อง Proof of Stake และการปกครองบนเชน โดยที่ตัวผู้พัฒนาสามารถยื่นร่างข้อเสนอการพัฒนามาบนบล็อกเชน แล้วผู้ที่ถือเหรียญ XTZ อยู่ก็สามารถออกเสียงแบบประชามติผ่าน node ได้ว่าจะรับร่างไปทดสอบไหม หลังจากที่ทดสอบแล้วก็จะมีการออกเสียงอีกครั้งว่าจะรับร่างเพื่ออัปเกรดเครือข่ายไหม เมื่อโหวตรับแล้วตัวบล็อกเชนก็จะทำการอัปเกรดตามร่างข้อเสนอโดยอัตโนมัติและไม่ต้องทำการ fork เครือข่ายครับ
ในช่วงท้ายเดือนกันยายนที่ผ่านมาเครือข่าย Tezos ก็ได้ทำการอัปเกรดชื่อว่า Kathmandu สำเร็จไป และในขณะนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังโหวตว่าจะรับร่างข้อเสนอชื่อ Lima ไปทดลองหรือไม่ โดยที่การอัปเกรดครั้งหลัง ๆ จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพของบล็อกเชนและความสามารถของ Smart Contract ครับ
สำหรับตอนนี้ผมขอแนะนำและอัปเดต 4 เครือข่ายนี้ก่อน สำหรับตอนหน้าจะมีเครือข่ายไหนบ้างต้องรอติดตามอ่านกันนะครับ
อ้างอิง https://cointelegraph.com/news/solana-outperforms-ethereum-in-daily-transactions-in-q2-nansen-report
https://cointelegraph.com/news/polkadot-hits-all-time-high-in-development-activity