สรุปความเหมือน-แตกต่างระหว่าง Web3 และ Web3.0

 สรุปความเหมือน-แตกต่างระหว่าง Web3 และ Web3.0

ในแวดวงเทคโนโลยีตอนนี้อาจจะได้ยินคำว่า Web3 และ Web3.0 จนทำให้หลายคนเข้าใจไปว่าเป็นเทคโนโลยีเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วสองคำนี้มีความแตกต่างกันแต่ก็มีบางจุดที่มีความคล้ายกันด้วย

เริ่มที่คำว่า Web3 เกิดขึ้นจากนาย Gavin Wood ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum และผู้ก่อตั้ง Polkadot เป็นผู้ให้คำนิยามว่าเป็นอินเทอร์เนตแบบกระจายศูนย์ หรือ Decentralized ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ Web3.0 มีความแตกต่างจาก Web3 คือใช้หลักการของ Semantic Web โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งานอินเทอร์เนตให้มีความฉลาดมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีหลักคือ Data Interchange อย่างเช่น RDF,SPARQL,OWL และ SKOS

 

เวบไซต์ในปัจจุบันทำงานภายใต้ลิงค์เวบอย่างเช่น URLs ซึ่งจะทำการเชื่อมข้อมูลต่างๆบนเครือข่ายเข้าด้วยกันแต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลดิบที่สามารถเอื้อต่อการให้เกิดการทำงานแบบอัตโนมัติหรือ Machine Readable ตัวอย่างเช่นถ้าเราเปลี่ยนแปลงข้อมูลของเราใน Facebook จะต้องไปเปลี่ยนข้อมูลของเราเองในแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Youtube เอาเองเนื่องจากสองเวบนี้ไม่ได้ทำงานด้วยกัน

Semantic Web จึงออกแบบมาให้มีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันในเครือข่ายอินเทอร์เนตแม้จะต่างแพลตฟอร์มกันเพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลต่างๆในอินเทอร์เนตได้อัตโนมัติ โดยจะมีการจัดให้ข้อมูลต่างๆไปรวมกันอยู่ในแหล่งที่เรียกว่า Solid

ความตั้งใจของ Tim Berners-Lee ผู้ริเริ่มไอเดียของ Web3.0 ต้องการให้ Solid สามารถทำให้เวบไซต์มีความเป็น Decentralized โดยไม่จำเป็นต้องใช้บล็อกเชนซึ่งเขามองว่าถ้าใช้บล็อกเชนข้อมูลต่างๆจะอยู่ในที่สาธารณะมากเกินไปซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องให้มีผู้ไม่หวังดีสามารถติดตามผู้ใช้งานเพื่อหวังประโยชน์ได้ซึ่งเป็นปัญหาของการใช้อินเทอร์เนตในปัจจุบัน

ถ้าจะสรุปความเหมือนระหว่าง Web3.0  กับ Web3 คือทั้งสองต่างมีความตั้งใจจะทำให้ข้อมูลต่างๆในอินเทอร์เนตอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ใช้งานไม่ใช่อยู่ภายใต้แพลตฟอร์มเหมือนกับยุค Web2.0 แต่วิธีการทำงานแตกต่างกันคือ Web3.0 นำข้อมูลไปอยู่ที่ Solid Pod ส่วน Web3 นำข้อมูลต่างๆอยู่ใน Wallet โดยใช้บล็อกเชน

ส่วนความแตกต่างคือ Web3.0 ข้อมูลก็ยังถูกรวมศูนย์อยู่ใน Solid Pod อยู่ดี ส่วน Web3 ข้อมูลจะถูกเก็บในบล็อกเชนซึ่งจะไม่ได้เป็นการรวมศูนย์

Web3 ยังเทคโนโลยีที่เปิดให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เนตมีอิสระและมีความเป็นเจ้าของในตัวเอง (Ownership Base) ซึ่งต่างจากอินเทอร์เนตในยุค Web2 ที่แพลตฟอร์มเป็นผู้ควบคุมดูแลทุกอย่างทั้งนโยบายการใช้งานรวมถึงเป็นเจ้าของข้อมูลและคอนเทนท์ต่างๆที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้น

อินเทอร์เนตในยุคปัจจุบันจะมีการรวมศูนย์ของฐานข้อมูลต่างๆไว้ที่ Server กลาง ซึ่งควบคุมดูแลโดยเจ้าของแพลตฟอร์มที่ให้บริการจึงเท่ากับว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆของผู้ใช้งานได้ทั้งหมดรวมถึงหากเกิดการเจาะฐานข้อมูลโดยแฮกเกอร์ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ทั้งหมด

แต่ Web3 จะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า InterPlanetary File System (IPFS) protocol แทนที่ Server กลาง ซึ่งเปิดทางให้ผู้ใช้งานสามารถทำหน้าที่เป็น Server ได้ในตัวเองไม่จำเป็นต้องดึงข้อมูลออกจาก Server กลางอีกต่อไป ซึ่ง IPFS นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานแต่ละคนทำงานเหมือนเป็น Node ของบล็อกเชนนั่นเองที่ Node ทุกคนมีหน้าที่ช่วยให้ธุรกรรมต่างๆสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ต้องไปประจุกตัวรวมกันที่คนใดคนหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสหรือ Cryptographic ซึ่งแต่ละคนจะมีกุญแจผ่านเข้าถึงฐานข้อมูลเฉพาะที่ใช้งานอยู่หรือที่เรียกว่า Address แทนที่ผู้ใช้งานจะต้องถูกกำหนดให้ตั้งชื่อ Username ที่อยู่ภายใต้แพลตฟอร์ม ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของคำว่าอินเทอร์เนตแบบกระจายศูนย์ซึ่งอยู่ใน Web3

อีกหนึ่งมิติของการเป็น Ownership Base ในโลกของ Web3 คือ DAOs หรือ Decentralized autonomous organizations ซึ่งเป็นคอนเซบท์ของการกระจายอำนาจให้กับผู้มีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้แทนที่อำนาจการตัดสินใจจะมาจากเจ้าของแพลตฟอร์มเพียงรายเดียว

โครงสร้างเทคโนโลยีของ DAOs จะมีการใช้ทั้ง NFT ในการแสดงสิทธิและยืนยันตัวตนในระบบรวมถึงมีการใช้ Smart Contract เปรียบเสมือนกับกฎระเบียบภายใน DAOs ที่ทุกคนในระบบต้องปฎิบัติตามเหมือนกันหมดผ่านโดยอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องใช้คนมาบริหารจัดการเลย

แม้ช่วงแรกของการพูดถึงระบบอินเทอร์เนตไร้ตัวกลางจะใช้คำว่า Web3.0 แต่ในปัจจุบันได้มีการแยกแยะความแตกต่างระหว่าง Web3 กับ Web3.0 อย่างชัดเจนแล้ว เราจึงต้องแยกแยะคำสองคนนี้ให้ถูกต้อง