CBDC และอนาคตของ Stablecoin
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง Central Bank Digital Currency หรือ CBDC กันมาบ้างแล้ว ที่ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ประกอบด้วย 2 แบบหลักๆ คือ Wholesale CBDC ที่ใช้กันระหว่างสถาบันการเงินทั้งใน และนอกประเทศ และ Retail CBDC ที่จะถูกใช้งานในภาคธุรกิจ และสำหรับประชาชนทั่วไป
ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มต้นพัฒนา Wholesale CBDC มาตั้งแต่ปี 2017 จนมีความก้าวหน้าอย่างมากจนเรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ แต่สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจมากว่า และจะมีผลต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปในอนาคตก็คือ Digital Thai Baht หรือดิจิทัลบาท ซึ่งเป็น Retail CBDC ที่ทาง ธปท. กำลังเร่งพัฒนาอยู่ในขณะนี้
Retail CBDC จะมีลักษณะเทียบเท่าเงินสด เหมือนกับธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ที่ถูกรับรองจาก ธปท.โดยตรง เพียงแค่มีการเปลี่ยนรูปแบบมาอยู่ในรูปดิจิทัลเท่านั้น ซึ่ง Retail CBDC จะมีความแตกต่างจากเงินในธนาคารหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ตรงที่ประชาชนไม่ต้องเชื่อใจผู้ให้บริการ
หรือบริษัทเหล่านั้นในการดูแลเงิน เพราะถ้าหากเกิดการบริหารหรือความผิดพลาดใดๆ จนบริษัทไม่สามารถคืนเงินได้ หรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนคนแห่ถอนเงินจากธนาคารจนเกิดเหตุการณ์ Bank Run ก็จะทำให้ผู้ให้บริการเหล่านั้นไม่สามารถคืนเงินลูกค้าได้ อีกทั้งการคุ้มครองเงินฝากก็มีเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น สิ่งนี้ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ใช้บริการไม่ได้เป็นเจ้าของเงินที่อยู่ในบริการเหล่านั้นอย่างแท้จริงเหมือนกับการถือเงินสดไว้กับตัวเอง
ดังนั้น Retail CBDC ก็จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับประชาชน และภาคธุรกิจได้ โดย ธปท. มีแผนจะเริ่มทดลองใช้งานดิจิทัลบาทในวงจำกัด (Pilot Test) ในปลายปี 2022 ร่วมกับภาคเอกชน 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) ซึ่งคาดว่าจะมีกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย
การใกล้เข้ามาของดิจิทัลบาทนั้น ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าจะมีผลกระทบต่อ Stablecoin ที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีชนิดหนึ่งที่มีการตรึงค่าเงินกับสกุลเงินจริงหรือไม่ ซึ่งจากที่ได้ศึกษา และติดตามมาระยะหนึ่งทำให้ พบว่าผลกระทบต่อ Stablecoin อาจไม่ได้มากขนาดนั้นอย่างที่หลายคนคิด ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยไม่ได้มีผู้ออก Stablecoin ที่มีการตรึงค่ากับเงินบาทไว้บน Public Blockchain และเงินบาท ไม่ใช่สกุลเงินหลักของโลกเหมือนกับดอลลาร์ที่ถึงแม้มีการเชื่อมต่อบาทดิจิทัลกับ Public Blockchain ก็คงไม่มีความต้องการมากเทียบเท่า Stablecoin ที่ตรึงค่ากับดอลลาร์
โดยเฉพาะ Stablecoin แบบที่มีเงินสดหรือสิ่งเทียบเท่าเงินสดหนุนหลัง (Fiat-back Stablecoin) ที่ซึ่งตอนนี้ Stablecoin แบบดังกล่าว 3 อันดับแรกของโลกอย่าง USDT, USDC, BUSD มี Market Cap ถึง 135,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาท และมากไปกว่านั้น การเชื่อมต่อเงินของประชาชนทุกคนในประเทศกับ Public Blockchain ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในเร็วๆ นี้ เพราะหากมองแค่เรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับช่องโหว่ต่างๆ และทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดูแลจัดการก็ไม่น่าคุ้มที่จะเอาเสถียรภาพของประเทศเข้าไปเสี่ยงตรงนั้น ซึ่งก็จะเห็นได้จากการที่หลายๆ ประเทศเลือกใช้ Private Blockchain หรือไม่ก็ไม่ได้ใช้ Blockchain เลยก็มี
ถึงตรงนี้หลายคนคงจะมองภาพออกแล้วว่า หากสหรัฐยังคงเป็นมหาอำนาจของโลกอยู่ สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนเกมในโลกคริปโทฯ ก็มีเพียงการออกแบบ CBDC ของสหรัฐ ที่ว่าพวกเขาจะเลือกออกแบบให้มีการใช้งานบน Public Blockchain แล้วทำให้ Stablecoin ที่กล่าวไปข้างต้นล้มหายตายจากไปหรือไม่ ซึ่งจากคำพูดใน Testimony ของ Lael Brainard ที่เป็นรองประธาน Federal Reserve ในวันที่ 26 พ.ค.2022 นั้น
เธอได้กล่าวไว้ว่า แนวทางการพัฒนา CBDC จะเป็นไปในรูปแบบที่คอยส่งเสริม และอยู่ร่วมกันได้กับ Stablecoin เหมือนกับในตอนนี้ที่เงินสดสามารถอยู่ร่วมกันได้กับเงินในธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนาไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคิด รวมถึงยังมีแนวโน้มที่จะคอยส่งเสริมให้ Stablecoin เหล่านั้นมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยเนื่องจากบริษัทผู้ออก Stablecoin ก็มีทางเลือกที่จะไม่ต้องเชื่อใจธนาคารไหนในการเก็บรักษาเงินเลย แต่กว่าที่ US CBDC จะออกมาก็คงอีกนานหลายปีเนื่องจาก Brainard ได้กล่าวเสริมไว้อีกว่าตอนนี้ CBDC ยังอยู่ในช่วง Research & Development เท่านั้นและคาดว่าอาจใช้เวลานานถึง 5 ปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้
แต่ถ้าหากมาดูอีกฟากของมหาอำนาจอย่างจีน ที่ธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2014 และตอนนี้ได้ทดลองใช้งานหยวนดิจิทัล (Digital Yuan : e-CNY) แล้วทั้งทดสอบกับเอกชนรายใหญ่อย่าง Ant Group, Tencent และ JD ในช่วงปลายปี 2017 และมีการทำ Pilot Test ในปี 2020 ใน 4 เมืองได้แก่ Shenzhen, Suzhou, Chengdu, และ Xiong’an และในปี 2022 นี้มีการเพิ่มอีก 6 เมือง
รวมถึงอีก 2 เมืองพิเศษที่เป็นสถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว (Winter Olympics 2022) เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการเปิดทดลองใช้งานดิจิทัลหยวนสำหรับชาวต่างชาติที่มาร่วมงานด้วย โดยใช้แค่พาสปอร์ต และเบอร์โทรศัพท์ในการเปิดใช้งานเท่านั้น และภายหลังงานก็ได้เพิ่มอีก 11 เมืองซึ่งมี 6 เมืองจากจำนวนดังกล่าวเป็นเมืองที่อยู่ในมณฑล Zhejiang ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน Asian Game 2022 เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา และมีแผนเพิ่มอีกหลายเมืองที่รวมแล้วมากกว่า 23 เมืองในปี 2022 นี้
ลักษณะของหยวนดิจิทัลถูกออกแบบมาให้สามารถใช้ได้หลากหลายช่องทาง ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน e-CNY หรือใช้งานผ่านบัตรเงินสดทั้งบัตรธรรมดา และบัตรอัจฉริยะที่มีหน้าจอแสดงยอดเงินคงเหลือ และสามารถใส่รหัสสำหรับการชำระเงินได้ รวมถึงแอปพลิเคชัน WeChat ที่มีผู้ใช้งานหลายร้อยล้านคน ก็จะมีการรองรับการใช้หยวนดิจิทัลด้วย ซึ่งจากข้อมูลการใช้งานจริงดังกล่าวทำให้หยวนดิจิทัลกลายเป็น Retail CBDC ที่มีความก้าวหน้า และน่าจับตามากที่สุดในโลก ณ ขณะนี้
สุดท้ายนี้มีสิ่งหนึ่งที่อยากฝากทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับ CBDC ในภาพรวมของทุกๆ ประเทศคือ ถึงแม้ว่า CBDC จะมาช่วยอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น มีความมั่นคงสูง มีการเก็บข้อมูลการใช้จ่ายของทุกคนเพื่อการใช้นโยบายทางการเงิน และเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความเป็นส่วนตัวลดลง ซึ่งจะไม่เหมือนกับการยื่นเงินสดซื้อของที่มีคนรู้เรื่องธุรกรรมนี้แค่สองคนคือ ผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งอาจนำมาสู่การปิดกั้นหรือควบคุมที่มากขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมได้ในอนาคต เช่น การจำกัดการใช้จ่ายหรือเข้าถึงเงินของผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งที่เงินควรจะเป็นกลางสำหรับทุกคน ด้วยเหตุนี้จะทำให้ Stablecoin นั้นก็ยังคงมีที่ยืนเพราะสามารถให้ความเป็นส่วนตัวกับผู้ใช้งานได้มากกว่าโดยยังสามารถสืบเส้นทางการเงินได้หากมีความจำเป็น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์