ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัล แจ้งเกิดไลเซ่นส์คัสโตเดียนในประเทศ
บอร์ดก.ล.ต.เผยนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลภาพรวมตั้งแต่ตลาดแรก-ตลาดรอง-บังคับใช้กฎหมาย เตรียมแก้เกณฑ์ยื่นขอไลเซ่นส์ประกอบธุรกิจคัสโตเดียน หวังคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมทบทวนการเสนอขายอินเวสเมนท์โทเคน สอดคล้องความเสี่ยง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดทำแนวนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลภาพรวม และได้เสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งครอบคลุมการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรอง รวมทั้งการกำกับผู้ประกอบธุรกิจตามระดับความเสี่ยงและการตรวจสอบการกระทำอันไม่เป็นธรรม สอดรับการกำกับดูแลด้านตลาดทุนสากล (IOSCO)และสะท้อนสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลกในช่วงที่ผ่านมา
โดยที่ประชุม คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการทบทวนหลักเกณฑ์การยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (custodial wallet provider)ให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีผู้สนใจให้บริการเป็นcustodialในประเทศที่มีคุณภาพ และลูกค้าที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทย คาดจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง)จากผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังเห็นชอบให้ทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ และการทบทวนหลักเกณฑ์ด้านความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอความเห็นชอบการประกอบธุรกิจอื่นจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้สามารถติดตามการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้คณะกรรมการ ก.ล.ต.ให้นโยบายที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สามารถให้บริการโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะไม่พร้อมใช้ (utility token ไม่พร้อมใช้)ได้ เนื่องจากมีลักษณะและความเสี่ยงใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ ขณะที่ คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (utility token พร้อมใช้) มีความเสี่ยงสูง จึงมีนโยบายกำหนดการลงทุนโดยกองทุนรวม เพื่อผู้ลงทุนรายย่อยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี และ utility token พร้อมใช้ ต้องแยกนิติบุคคลในการให้บริการ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อทรัพย์สินของลูกค้า และธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติม
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้ทิศทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลชัดเจน ไม่ให้เกิดการเก็งกำไร จนทำให้ตลาดเกิดความผันผวน และคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม อย่างเช่น การประกาศหลักเกณฑ์ ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลคาดว่าน่าจะชัดในกลางปีนี้