'สินทรัพย์ดิจิทัล'เทรนด์โลก ก.ล.ต.ชี้รายใหม่ยื่นขอไลเซ่นส์คึก
ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการ สะท้อนจากผู้ประกอบการที่เข้ามายืื่นขอใบอนุญาต(ไลเซ่นส์)ประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ,นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker)ฯลฯ
หลังจากล่าสุด คณะรัฐมนตรี อนุมัติยกเว้นภาษี (Vat)การลงทุนใน Token ทั้งในตลาดแรก คือการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO)และการซื้อขายToken ในตลาดรอง เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หนุนมีผู้สนใจประกอบธุรกิจการเป็นICO Portalมากขึ้น และผู้ออกเสนอขายICO (ICO Issuer) มากขึ้น
นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายนวัตกรรมทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจได้เข้ามายื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการของก.ล.ต. กว่า 10 ราย โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ,นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมกันนี้ยังพบว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่ๆกลับเข้ามาสอบถามอย่างต่อเนื่อง
ส่วนด้านผู้ประกอบธุรกิจด้าน ICO Portal มีผู้สนในยื่นขอใบอนุญาต ยังค้างอยู่กว่า 30 ราย ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาให้เป็นไปตามตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของก.ล.ต. ส่วนของผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Issuer)ปัจจุบันมีผู้ยื่นขออนุญาตออกเสนอขายโทเคนเป็นรายที่ 3 ของประเทศไทยแล้ว
สำหรับผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความสนใจและเข้ามาหารือแล้ว พบว่า ยังต้องกลับไปปรับปรุงแผนใหม่ แต่ก็ยังหารือกันอยู่ต่อเนื่อง โดยมี 3 ประเด็น คือ ประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษี สถาบันยังลงทุนไม่ได้ และผู้ลงทุนรายย่อยที่จำกัดลงทุนได้รายละไม่เกิน 300,000 บาทต่อครั้ง หรือโครงการ ซึ่งการปรับปรุงนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลในภาพรวม ก็จะมีการปรับปรุงประเด็นเหล่านี้ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงชัดเจนขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อมีความชัดเจนประเด็นภาษีแล้วน่ากลับเข้ามายื่นขอใบอนุญาตเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแนะนำว่า หากผู้ประกอบการที่สนใจต้องการทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ขอให้เข้ามาพูดคุยหารือกับก.ล.ต.ก่อน เพราะพบว่า มีหลายรายที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว มีชื่อขึ้นในระบบ แต่อาจจะยังไม่พร้อม และไม่สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด มองเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะหลังจากนั้นจะนำไปสู่กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาต และต้องถูกระงับไปอีก 6 เดือนแล้วจึงสามารถยื่นขอใบอนุญาตใหม่ได้ ดังนั้นขอย้ำว่า ผู้ประกอบการควรมีความพร้อมเริ่มธุรกิจ เข้ามาหารือกับก.ล.ต.ก่อนแล้ว แล้วค่อยมาขอใบอนุญาตฯ
สำหรับการปรับปรุงแก้ไข พรก. สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้มีการโยกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะไม่พร้อมใช้ (utility token ไม่พร้อมใช้) ออกไปอยู่ใน พรบ.หลักทรัพย์ แล้ว โดยจะเหลือ
คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (utility token พร้อมใช้) ในพรก.สินทรัพย์ดิจิทัล จะเรียกรวมกันว่า คริปโทแอสแซท (Crypto assets) เช่นเดียวกับในต่างประเทศแล้ว ซึ่งก็จะปรับปรุงการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ และให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้วย ทั้งนี้การปรับปรุงกฎหมายนี้ได้ยังสอดคล้องกับเกณฑ์การกำกับดูแลในหลายประเทศเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานสากลด้วย
เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เปิดเผยว่า หลังจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่มีประเด็นหรือข้อจำกัดทางด้านการจัดเก็บภาษี ในส่วนของการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) ที่ครม.อนุมัติยกเว้นการจัดเก็บภาษี (VAT) ทั้งการซื้อขายในตลาดแรก และตลาดรอง คาดว่าหลังจากนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจอยู่แล้วก่อนหน้านี้ จะกลับมาเข้ามายื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น
“จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้เท่าที่ทราบหลายๆ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาหารือก็มียูสเคสอยู่ในมือแล้วพอสมควร เพียงแต่ตอนนั้นรอความชัดเจนในประเด็นการจัดเก็บภาษีเท่านั้น”
นอกจากนี้ ทางด้านความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไข พรก. สินทรัพย์ดิจิทัล ขณะนี้ทางคณะทำงานกำลังพิจารณาอยู่ คาดว่าโครงร่างจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ และจะเสนอบอร์ด ก.ล.ต. พิจารณาในหลักการต่อไป
จากหนังสือชี้ชวนโทเคนดิจิทัล พบว่า บริษัท เรียล เอสเตท เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด ได้ยื่นไฟลิ่ง ในการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนครั้งแรก โดยเสนอขายขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเรียลเอ็กซ์ (RealX Investment Token) จำนวนไม่เกิน 19,230,769 โทเคน
โดยวัตถุประสงค์ในการใช้เงินจากการระดมทุนของโทเคนฯ RealX แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. ลงทุนในสัญญา RSTA เพื่อให้ผู้ออกโทเคนซึ่่งให้ได้มาซึ่งกระแสรายรับจากทรัพย์สินของโครงการ จาก บริษัท เรียล เอสเตท อินทิเกรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้มาซึ่งสิทธิ์ของห้องชุด ได้แก่ ห้องชุดโครงการ พาร์ค ออริจิ้น พร้อมพงษ์ จำนวนไม่เกิน 138 ห้อง ห้องชุดโครงการ พาร์ค ออริจิ้น พญาไท จำนวนไม่เกิน 123 ห้อง และห้องชุดโครงการ พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ จำนวนไม่เกิน 100 ห้อง และ 2. ใช้สำหรับชำระค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม ชำระคืนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุน (ถ้ำมี) และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของผู้ออกโทเคนดิจิทัล