‘ภูฏาน’ ย่องลงทุนคริปโทฯ ถือเหรียญ USDC มูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท
“ภูฏาน” ประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ แอบลงทุนในบริษัทคริปโทฯ ที่ประกาศล้มละลายเมื่อปีที่แล้ว เกือบ 1,000 ล้านบาทเพื่อซื้อเหรียญคริปโทฯ USDC
Key Points
- กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งภูฏานมูลค่ากว่า 9.57 หมื่นล้านบาทเข้าลงทุนอย่างลับๆ ในบริษัท "BlockFi" และ "Celsius"
- กองทุนฯ ตกลงยืมเหรียญ USDC จากผู้ปล่อยสินเชื่อจำนวน 30 ล้านเหรียญ คิดเป็น 30 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 990 ล้านบาท)
- ผู้ปล่อยสินเชื่อด้านคริปโทเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขับกองทุนดังกล่าวออกจากการเป็นลูกค้าสถาบัน
“ภูฏาน” หนึ่งในประเทศที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก ที่หลายคนกล่าวขานในด้านทิวทัศน์อันกว้างขวาง วัดวาอารามบนยอดเขา และดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) ซึ่งสะท้อนว่าพื้นที่แห่งนี้ให้ความสำคัญกับ "ความเป็นอยู่ที่ดี" มากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ด้วยเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในประเทศที่สร้างขึ้นมาจากภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเมื่อราว 2 ทศวรรษก่อนหน้าเท่านั้น (รวมทั้งยังใช้ตำรวจจราจรแทนสัญญาณไฟอยู่ในเมืองหลวง) ทั้งหมดส่งผล “คริปโทเคอร์เรนซี” และ “ภูฏาน” เป็นสองสิ่งที่ไม่น่าจะเชื่อมโยงกันได้
ทว่าเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา "ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความสุขมากที่สุดในโลก" แห่งนี้ทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์อย่างเงียบๆ ในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้ง "บิตคอยน์" หนึ่งในสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซียอดนิยมด้วย
หากอ้างอิงตามเอกสารของศาลซึ่งตรวจสอบโดยฟอร์บส (Forbes) นิตยสารทางการเงินระดับโลก พบว่า กองทุนเพื่อความมั่งคั่งมูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.57 หมื่นล้านบาท) ของภูฏาน เป็นลูกค้าของ "บล็อกไฟ (BlockFi)" และ "เซลเซียส" (Celsius) สองบริษัทด้านคริปโทเคอร์เรนซีที่ประกาศล้มละลายเมื่อปีที่แล้ว แต่กองทุนฯ ไม่เคยเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ
กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของภูฏานนี้ชื่อว่า ดรุก โฮลดิ้ง แอนด์ อินเวสเม้นท์ (Druk Holding & Investments) ซึ่งตั้งชื่อตาม "มังกรดรุก" สัญลักษณ์ประจำชาติของภูฏาน บริหารพอร์ตการลงทุนของสินทรัพย์ของประเทศจำนวนมาก (Homegrown Assets) ไม่ว่าจะเป็น สินทรัพย์ของผู้ผลิตชีสในท้องถิ่น, โรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่ง, สายการบินรอยัล ภูฏาน แอร์ไลน์ส (The Royal Bhutan Airlines) ซึ่งมีเครื่องบินในครอบครองทั้งหมด 5 ลำ
ทั้งนี้ ดรุก ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 หรือราว 16 ปีที่แล้วภายใต้กฎบัตรของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) เพื่อพิทักษ์ความมั่งคั่งของประเทศและผลประโยชน์ระยะยาวของผู้ถือหุ้น หรือประชาชนชาวภูฏานทุกคน โดยในปัจจุบันบริษัทนิยามตัวเองว่าเป็น "กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ" แม้จะดำเนินธุรกิจคล้ายรัฐวิสาหกิจมากกว่าก็ตาม และปัจจุบันดรุกดูแลบริษัทในประเทศทั้งหมด 21 แห่ง
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ดรุกค่อยๆ เข้าลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีแบบไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยบริษัทเข้าลงทุนในช่วงไล่เลี่ยกันกับช่วงของการล่มสลายของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างน้อยที่สุดคือช่วงปีที่แล้ว ได้แก่ การล่มสลายของเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) และ โวยาเจอร์ (Voyager)
บทวิเคราะห์ของนิตยสารฟอร์บส ระบุว่า ยังไม่พบความเชื่อมโยงว่าการถือครองสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีของดรุกเกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาภูฏานให้มีความทันสมัยมากขึ้น (Modernization Initiatives) หรือไม่
สำหรับแผนพัฒนาประเทศให้ทันสมัยนั้น รวมไปถึง "แพลตฟอร์มเก็บข้อมูลประจําตัวแบบดิจิทัลไบโอเมตริกซ์" ซึ่งผู้ใช้รายแรกคือมกุฎราชกุมารวัย 7 ขวบ โดยการเปิดเผยความสัมพันธ์ของภูฏานกับสกุลเงินดิจิทัลครั้งนี้ส่งผลให้นักวิเคราะห์จำนวนมากต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว ทนายความของบล็อกไฟ ผู้ให้บริการด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ร้องเรียนไปที่ดรุก ในกรุงทิมพู (Thimphu) ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังภูฏาน และกล่าวหาว่าดรุกผิดนัดชําระหนี้เงินกู้ จำนวน 30 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 990 ล้านบาท)
ทั้งนี้ คํากล่าวอ้างของบล็อกไฟซึ่งยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในเดือน ก.พ. 2565 ระบุว่า ดรุกตกลงยืมเหรียญ "USDC" ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับสกุลเงินดอลลาร์ในอัตราส่วน 1:1 ทั้งหมด 30 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 990 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม บล็อกไฟกล่าวหาดรุกว่า "ล้มเหลวและปฏิเสธ" การชําระคืนเงินกู้เต็มจํานวน แม้ว่าผู้ให้กู้จะชําระบัญชีหลักประกัน (Liquidate a Collateral) เป็นจำนวน 1,888 บิตคอยน์แล้วก็ตาม (ประมาณ 76.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,524 ล้านบาท เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงการกู้ยืม) ส่งผลให้เหลือยอดคงค้างจำนวน 8.2 แสนดอลลาร์
ด้าน อุจจาวัล ดีป ดาฮาล (Ujjwal Deep Dahal) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของดรุกให้ข้อมูลกับนิตยสารฟอร์บสผ่านอีเมลว่า “เราไม่มีความคิดเห็นใดๆ เนื่องจากศาลได้พิพากษาคดีของบล็อกไฟเรียบร้อยแล้ว”
นอกจากนั้น ดาฮาลไม่ได้ตอบคำถามของนิตยสารฟอร์บสอีกจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่า “ทําไมดรุกต้องการ USDC จำนวน 30 ล้านดอลลาร์ ไม่ว่าคำว่า เรียบร้อยแล้ว นั้นจะหมายความว่าบริษัทชําระเงินกู้จำนวนดังกล่าวคืนแล้ว และได้รับเหรียญนั้นไปแล้วก็ตาม”
ขณะที่ทนายความของบล็อกไฟ ไม่ตอบสนองการขอข้อมูลเพิ่มเติม อีกทั้งสัญญาการกู้เงินของทั้งสองยังไม่ได้รับการเปิดเผย โดยตอนนี้ดรุกคล้ายจะเป็น "เป้าหมาย" เดียวของบล็อกไฟในการเรียกคืนสินทรัพย์ที่ค้างชําระ
เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ดรุกยังถูกขับออกจากการเป็นลูกค้าสถาบัน (An Institutional Customer) ของเซลเซียส ผู้ปล่อยสินเชื่อด้านคริปโทเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเหตุผลเรื่องลงทุนที่ไม่ได้มาตรฐาน (Poor Investments) และการย่อตัวของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี
ในเดือน ต.ค. เซลเซียสเผยแพร่เอกสารที่มีข้อมูลผู้ใช้มากกว่า 14,000 หน้า ซึ่งรวมถึงชื่อบัญชี ที่อยู่ และประวัติการทำธุรกรรม โดยเอกสารดังกล่าวชี้ชัดว่าดรุกทำธุรกรรมในบัญชีสกุลเงินดิจิทัลจำนวนมาก ภายใต้ชื่อ "ดรุก โปรเจกต์ ฟันด์" (Druk Project Fund) ตั้งแต่เดือน เม.ย. และ มิ.ย. 2565
“หนังสือชี้ชวนการลงทุนของเซลเซียสชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ดรุกถอนเงินไปมากกว่า 65 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,145 ล้านบาท) และไปฝากเงินกับสินทรัพย์ดิจิทัลเกือบ 18 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 594 ล้านบาท)”
อย่างไรก็ตาม ดรุกปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นถึงที่มาและแผนของเงินจำนวนดังกล่าว ขณะที่ทนายความของเซลเซียสต้องการ "เรียกคืน" เงินฝาก (Clawbacks of Deposits) ที่ทําภายใน 90 วันหลังจากประกาศล้มละลาย
ด้าน ดันแคน บอนฟิลด์ (Duncan Bonfield) ซีอีโอของ International Forum of Sovereign Wealth Funds ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดากองทุนเพื่อความมั่งคั่งคาดการณ์ไว้แล้วว่ากองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเริ่มเข้าซื้อสกุลเงินดิจิทัล ณ ตอนนี้ ความเชื่อมโยงเดียวที่เห็นได้คือการที่กองทุนเหล่านั้นเข้าซื้อหุ้นในบริษัทที่เป็นเจ้าของคริปโทเคอร์เรนซี
“เรายังไม่เห็นความสนใจที่แท้จริงในสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง และเราไม่เชื่อว่ากองทุนฯ สมาชิกของเรารายใด จะจัดพอร์ตการลงทุนในสกุลเงินดังกล่าว” บอนฟิลด์ กล่าว