‘บิทคับ’ เร่งเครื่องดัน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ในไทย
รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจ ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ สูตรการบริหารธุรกิจ สไตล์ บิทคับ (bitkub) กับ “ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา”
“ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ประกาศตัวเป็นภาคเอกชน จะผลักดันให้เกิด “เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ”
“บิทคับ” จุดเริ่มต้นเป็นเพียง “ธุรกิจสตาร์ทอัป “ที่กำลังเติบโตก้าวกระโดด มาในวันนี้ กำลังเปลี่ยนภาพโมเดลธุรกิจ สู่ ”การปูโครงสร้างพื้นฐานใหม่” เก็บตกเรื่องที่ประเทศไทยยังตามไม่ทัน เก็บตกคนที่เคยวิ่งอยู่ข้างหลังให้เข้ามาอยู่บน “เศรษฐกิจดิจิทัล” ไปด้วยกันในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า
ปฏิบัติการ ‘บิทคับ’ในปีนี้
สำหรับสิ่งที่ “บิทคับ” กำลังเริ่มปฏิบัติการอยู่ในปีนี้นั้น “จิรายุส” กล่าวว่า ทางด้านวงการการเงิน ขณะนี้บิทคับกำลัง "พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่“ ของบิทคับ ให้เป็น ”ดิจิทัลแบงก์" นอกจากซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว ยังจะสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนเงิน (fx) ที่เป็นดิจิทัล หรือ เทรดคาร์บอนเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก วางเป้าหมายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย
“จิรายุส” กล่าวว่า “เมตาเวิร์ส” มีความเกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (Sustainability) เพราะหากโมเดลธุรกิจ การสื่อสารหรือบางกิจกรรมไม่เปลี่ยนวิธีการปฏิบัติเป้าหมาย Net Zero ไม่เกิดขึ้นแน่นอน ธุรกิจก็จะอยู่ไม่รอด ดังนั้น ในอนาคตเมตาเวิร์ส หรือ โลกเสมือนจริงจะเดินไปควบคู่กับโลกแห่งความจริง
เพราะทุกวันนี้ทุกคนใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่าในโลกความเป็นจริงอยู่แล้ว ซึ่ง เมตาเวิร์ส คือ 3 มิติ ด้วยเทคโนโลยี AR VR MR ที่ทำให้ประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตยิ่งเหมือนจริงมากขึ้น และในอนาคตสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวจะเชื่อมต่อถึงกันได้ โดยใช้อินเทอร์เน็ตสั่งการได้ทั้งหมดทุกคนเข้าถึงได้จากทั่วทุกมุมโลก
“บิทคับพยายามที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เป็นทางรอดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่ว่าจะเป็น Block Chain, Internet of Things (IOT), AI (Artificial Intelligent) , Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR) และเทคโนโลยีลดโลกร้อน (climate technology)"
นอกจากนี้ ยังมี “บิทคับ อาคาเดมี” คอยพัฒนาทักษะของคนไทยให้สอดคล้องกับโลกอนาคต เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรโลก ต้องกลับไปเรียนหนังสือใหม่ เพื่อที่จะ Reskill (การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่) และ Upskill (การเพิ่มและพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะใหม่) ให้มีทักษะตรงกับความต้องการตลาดในโลกอนาคต
แชร์ 3 ธีมใหม่ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
พร้อมกันนี้จากการที่ “จิรายุส” เดินทางไปแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นบทเวทีระดับโลก ซึ่งได้มีการพูดถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า “จิรายุส” กล่าวว่า จะมี 3 ธีมใหม่ คือ “ธีมโลกแตกเป็นส่วน” คือความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามที่ยังดำเนินอยู่แบ่งฝั่งซ้ายขาวชัดเจน เช่น สหรัฐกับจีน รัสเซียกับยูเครน ฝั่งซีกโลกตะวันตกกับตะวันออก ประเทศพัฒนากับประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาที่จะทิ้งห่างหรือมีความไม่เท่าเทียมกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
“ธีมเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยการมาของเอไอ และการมีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงในทุกๆ โมเดลธุรกิจ ทุกๆ การสื่อสาร ทุกๆ อุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนแปลง เรียกได้ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเร็วกว่าเมื่อเทียบกับ 50 ปีในอดีตรวมกัน
“ธีมความยั่งยืน” สู่เป้าหมาย Net Zeroภายในปี 2030 ทุกประเทศตระหนักในเรื่องของ 17 เป้าหมาย มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable DevelopmentGoals-SDGs) ในปีนี้ภาคธุรกิจตระหนักถึงมากขึ้น จริงๆ แล้วหลักของ Net Zero ไม่ได้มีเฉพาะ Sustainability แต่เริ่มถูกถึงคำว่า Incursion , Diversity และ Equity มากยิ่งขึ้น
ชู ‘เงินดิจิทัล’ ทางรอดธุรกิจการเงิน
สำหรับวงการการเงิน จะเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนได้อย่างไร (Sustainability) และจะทำอย่างไรให้วงการการเงินเข้าถึงทุกคนได้ (Incursions) และมีความหลากหลาย (Diversity) และที่สำคัญยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ (Equity)
“จิรายุส” มองว่า อย่างแรก “เงิน” ต้องเป็น “ดิจิทัล” ก่อน ถ้าเงินยังเป็นกระดาษ ไม่สามารถ Net Zero ได้ ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ และในขณะที่ธนาคารเริ่มปรับเปลี่ยนเป็น “ดิจิทัลแบงก์” ทำให้คนตัวเล็กจะเข้าถึงเทคโนโลยีและการด้านการเงินได้มากขึ้น เพราะต้นทุนของธนาคารลดลง
“การเปลี่ยนแปลง Net Zero ครั้งนี้ ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยภาพลักษณ์อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการกดดันทางระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนจะถูกบังคับให้เปลี่ยน อย่างคนที่ทำจะได้รางวัล คนที่ไม่ทำจะถูกกดดัน เช่น กรีนไฟแนนซ์ การปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่ไม่ทำลายโลกเท่านั้น ถ้ายังเป็นบริษัทที่ยังทำลายโลกอยู่ จะคิดดอกเบี้ยสูงกว่าปกติแน่นอน”
เปิดโมเดลสู่ความมั่งคั่งใน 10 ปี
ท้ายที่สุด เวลานี้หากแนะนำธุรกิจอยู่รอดในปี 10 ปีข้างหน้า “จิรายุส” แนะนำทุกบริษัทในไทย ต้องทำ ESG ตัว E เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทเข้าใจอยู่แล้ว ต่อมา S อาจยังเข้าใจผิดว่าเป็น Social ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะจริงๆ แล้วคือ Stakeholder ที่ไม่ใช่แค่ 3 ส่วน (ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า) ที่ได้ประโยชน์เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นประเทศ รัฐบาล มหาวิทยาลัย สื่อสารมวลชน วิจัย โซเชียล ซึ่งบริษัทต้องบริหารจัดการให้ทุกๆ ส่วนได้รับประโยชน์สูงสุด
ขณะที่ ตัว G มีความสำคัญอย่างมาก คือ การมีระบบการบริหารที่มีธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส่ รวมถึงการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ต้องมีความหลากหลายทั้งเจเนอเรชันของผู้บริหาร หรือแม้แต่ความหลากหลายทางเพศ ทำให้มีหลากหลายความคิด ทำให้บริษัทมีมุมมองครบทุกด้าน ทำให้ความผิดพลาดในการตัดสินใจทางธุรกิจลดลงได้
“ในโลกใบนี้ ประกอบไปด้วยคน 4-5 เจเนอเรชันอยู่ร่วมกัน บอร์ดในฝันของผม คือ การมีคนทุกเจเนอเรชัน หลากหลายวัย หลากหลายทางเทศ ยิ่งมากยิ่งดี ทำให้เรามีมุมมองครบทุกด้าน มีความคิดหลากหลาย ต้องมีความคิดต่าง ต้องมีการยอมรับ ทำให้บอร์ดมีครบทุกรสชาติมากขึ้น”
ขณะเดียวกันในยุคที่ AI ทำงานแทนคนได้ในเวลาอันรวดเร็ว มองว่า ช่วยให้บริษัทมีเวลาที่เหลือนำคนไปสร้างความมั่งคั่งด้านอื่นๆ
หากเป็นบริษัทที่เข้าใจและทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี จะได้ประโยชน์มากกว่า คนที่ทำธุรกิจโดยไม่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นการกระจายความมั่งคั่งจะไม่เท่าเทียม บริษัทในยุคนี้คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีจะได้เปรียบแบบก้าวกระโดด แต่ความเท่าเทียมจะถูกทิ้งห่างกันมากขึ้น
ดังนั้น ถ้าใครทำตาม BUSINESS ESG MODEL สุดท้ายจะกลายเป็นกำไรระยะยาว และหากใคร "จับทิศทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกได้ถูก" ต้องบอกเลยว่า “ความมั่งคั่งในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมากกว่าความมั่งคั่ง 50 ปีในอดีตรวมกัน”
นี่คือโอกาสใหม่ของไทย ถ้าไทยมีนโยบายที่ถูกต้อง เมื่อไทยเห็นทิศทางโลก และกล้าที่จะปรับตัวก่อน ไทยจะสามารถแก้ไขในอดีตที่ผิดพลาดมา 50 ปีได้ และ “บิทคับ” พยายามจะเป็นตัวแทนภาคเอกชน ผลักดันให้เกิด “เศรษฐกิจดิจิทัล” ในไทยนั่นเอง