ส่องตลาดคริปโท จับตา 3 เทรนด์มาแรงครึ่งปีหลัง
ในครึ่งปีแรกของปี 2566 นับตั้งแต่ต้นปี "บิตคอยน์" ถือเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี โดยเพิ่มขึ้นกว่า 55% ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ปีก่อนหน้าที่ถือเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของตลาดคริปโท
Key point:
- บิตคอยน์ให้ผลตอบแทนในระดับดี เพิ่มขึ้น 55%
- กลต.สหรัฐฯ ฟ้อง “ไบแนนซ์-คอยน์เบส” กรณี “ผิดกฏหมายหลักทรัพย์” จัด 13 อัลคอยน์ เป็น “หลักทรัพย์”
- จับตา 3 เทรนด์มาแรง ตลาดคริปโทครึ่งปีหลัง
สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด และที่ปรึกษาสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ภาพรวมตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ในช่วงครึ่งปีแรก ถือว่าปรับตัวขึ้นมาอยู่ใน "ระดับดี"
บิตคอยน์แกร่งเหนือวิกฤติ
จาก “บิตคอยน์” สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาด ให้ผลตอบแทนดีตั้งแต่ต้นปี โดยปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 25,000-26,000 ดอลลาร์ และสามารถเคลื่อนไหวไปแตะที่ 29,000 ดอลลาร์ แต่ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านสำคัญที่ 30,000 ดอลลาร์ไปได้
สำหรับปัจจัยที่ช่วยผลักดันราคามาจากช่วงของวิกฤติธนาคารล้ม จากการเกิด "แบงก์รัน" ของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
แต่ราคาบิตคอยน์ยังคงสามารถเติบโต 20-30% และเคลื่อนไหวตามราคาทองคำได้ดี ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจ"ดิจิทัลโกลด์"มากขึ้น ในการเป็นสินทรัพย์ที่สามารถจัดเก็บมูลค่าได้ด้วยตัวเอง ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของอย่างรัฐบาลที่ดูแลดอลลาร์ หรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ตลาดคริปโทระส่ำ "ผิดกฎหมายหลักทรัพย์"
จนกระทั่งตลาดคริปโทเจอวิกฤติครั้งล่าสุดในช่วงต้นเดือนมิ.ย.2566 ทั่วโลกยังคงมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจ ในการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ “ก.ล.ต.สหรัฐฯ”
ได้ยื่นฟ้อง ไบแนนซ์ (Binance) แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึง ฉาง เผิงจ้าว(Changpeng Zhao) หรือ CZ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม และ"คอยน์เบส" (Coinbase) แพลตฟอร์มคริปโทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ กรณี “ผิดกฎหมายหลักทรัพย์”
ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระทบตลาด "อัลคอยน์" (Altcoins) เนื่องจากสำนักงานกลต.สหรัฐฯ มองว่า 10 สกุลเงินดิจิทัล ได้แก่ BNB, BUSD, Solana (SOL), Cardano (ADA), Polygon (MATIC), Cosmos (ATOM), The Sandbox (SAND), Decentraland (MANA), Axie Infinity (AXS) และ COTI เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน
ทำให้ราคาอัลคอยน์หลายตัวร่วงหนัก และไม่นานหลังจากนั้น โรบินฮู้ด (Robinhood) แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นและคริปโทในสหรัฐตัดสินใจประกาศถอดเหรียญอัลคอยน์ที่ กลต.สหรัฐกล่าวว่าเป็น “หลักทรัพย์”
ปัญหาคริปโทโลก ไม่กระทบคริปโทไทย
ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย ให้มุมมองถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ไม่ได้มีผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศไทยมีพระราชกฤษฎีกาสำหรับดิจิทัลแอสเซท และผู้เล่นที่อยู่ในแวดวงดิจิทัลแอสเซท ต้องถูกควบคุมภายใต้กลต.ไทย
เพราะฉะนั้นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยจะไม่พบปัญหาเหมือนกับที่ต่างประเทศเจอ ดังนั้นเมื่อเกิดข้อพิพาท จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานกลต.ไทยที่เข้ามามีหน้าที่กำกับดูแล ลงโทษและสั่งปรับตามข้อกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
โฟกัส 3 เทรนด์ตลาดคริปโท
เทรนด์ของตลาดคริปโทที่ต้องจับตามองในช่วง ครึ่งปีหลังปี 2566 นี้ มี 3 เทรนด์หลักที่เป็นเมกะเทรนด์ใหญ่ ๆ ในตลาดโลกคริปโท
คือ Layer 2 ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมได้รวดเร็วและมีต้นทุนที่ถูกลง ทำให้เหรียญอัลคอยน์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Layer 2 บางตัวที่ได้รับความสนใจและมีมูลค่าสูงขึ้น เช่น Arbitrum (ARB)และ Optimism (OP) รวมทั้งในอีกหลายๆเหรียญที่มีการปรับตัวขึ้นมาในระดับที่ดี
รวมทั้ง Liquid staking โซลูชันใหม่ในเพิ่มขีดความสามารถให้กับการ Staking บนบล็อกเชนของอีเธอเรียม ทำให้เหรียญที่ได้รับประโยชน์จากการสเตกกิ้งเหรียญบนบล็อกเชนอีเธอเรียมเป็นที่นิยมในขณะนี้
และ ปัญญาประดิษฐ์ AI เมกะเทรนด์ที่จะเข้าเสริมตลาดคริปโทให้เติบโตมากขึ้นในอนาคต แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดในตลาดคริปโททำโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับ AI อย่างเป็นรูปเป็นร่าง แต่ในแวดวงฟินเทคนั้นได้ใช้ประโยชน์จาก AI มานานกว่า 5 ปีแล้ว รวมทั้งเชื่อว่าหลายบริษัทกำลังศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้กับรูปแบบธุรกิจ