Debt-liked ICO ทางเลือกลงทุนแห่งอนาคต ท่ามกลางวิกฤติความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีของบริษัท Stark Corporation และวิกฤตการณ์ด้านตลาดทุนก่อนหน้านั้น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมตลาดทุนของไทย
ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนและเริ่มระมัดระวังกับความเสี่ยงด้านการลงทุนที่อาจซุกซ่อนอยู่มากขึ้น นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับทางเลือกที่มีความปลอดภัยและมีความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี หลายคนอาจไม่ทราบว่านอกเหนือไปจากหน้าที่ในการกำกับดูแลตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ยังคงมีความพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนแบบใหม่ๆ ให้ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ทั้งเรื่องของการนำเทคโนโลยีBlockchain มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์การลงทุน หรือแม้กระทั่งการสร้าง platform ด้านการลงทุนที่ง่ายต่อการใช้งาน
โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ๆ เช่น การระดมทุนด้วยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (Initial Coin Offering : ICO) ซึ่งตามหลักเกณฑ์ในปัจจุบัน นอกจากจะมีการระดมทุนด้วย Real Estate Backed ICO แล้ว
ยังมีรูปแบบของการระดมทุนแบบอื่นที่สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักเกณฑ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีแนวคิดเรื่อง ICO ที่มีการจัดโครงสร้างและให้ผลตอบแทนซึ่งมีลักษณะคล้ายหนี้ หรือ Debt-liked ICO
สำหรับ ICO ที่มีการจัดโครงสร้างและให้ผลตอบแทนซึ่งมีลักษณะคล้ายหนี้ที่ได้ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ หากดูที่เนื้อหาในภาพรวม Debt-liked ICO จะดูคล้ายกับหุ้นกู้ที่บริษัทจะมีการกำหนดระยะเวลาโครงการไว้ชัดเจน (อายุของหุ้นกู้) และจะให้ผลตอบแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (ดอกเบี้ยจ่ายหุ้นกู้)
แต่ Debt-liked ICO สามารถออกแบบให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับ “ผลตอบแทนพิเศษ” เพิ่มเติมได้หากโครงการหรือทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้โครงการมีศักยภาพมากพอ ซึ่งสิทธิทั้งหมดที่นักลงทุนจะได้รับจะถูกกำหนดผ่าน Smart Contract ของระบบ Blockchain ที่มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
ในกรณีของ Debt-liked ICO นั้น นักลงทุนจะได้เห็นข้อมูลที่มาของกระแสเงินสดที่จะนำมาจ่ายผลตอบแทนหรือแหล่งที่มาของเงินต้นที่จะนำมาคืนเมื่อจบโครงการ ซึ่งตามข้อมูลจากเอกสารรับฟังความคิดเห็นปัจจุบัน
บริษัทผู้ระดมทุนจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการประเมินความน่าเชื่อถือของโครงการหรือทรัพย์สิน รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของโครงการและความสามารถในการชำระหนี้คืนของบริษัทผู้ระดมทุน
ซึ่งดำเนินการประเมินโดย 1) ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่กลั่นกรอง ICO ที่จะเสนอขายต่อผู้ลงทุน หรือ 2) ผู้เชี่ยวชาญอิสระ เช่น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นต้น
ทั้งนี้ เนื่องจาก Debt-liked ICO เป็นการระดมทุนในระดับโครงการซึ่งเล็กกว่าการระดมทุนในระดับบริษัท ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการประเมินพื้นฐานของโครงการได้โดยตรงและสามารถตัดสินใจลงทุนได้ด้วยข้อมูลที่มากขึ้น ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับหุ้นกู้ของบริษัทที่ส่วนใหญ่มักอ้างอิงจากการจัดอันดับเครดิตเป็นแหล่งข้อมูลหลักในการประเมินความเสี่ยงและกำหนดผลตอบแทนที่เหมาะสม
ในด้านของบริษัทที่ยังคงพึ่งพาการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ Debt-liked ICO อาจเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นในการระดมทุน โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดกลางค่อนไปทางเล็กที่อยู่ในช่วงของการเติบโต (Growth phase) ที่มีโครงการที่น่าเชื่อถือหรือมีทรัพย์สินที่มีความมั่นคงรองรับ โดยไม่จำเป็นต้องมีผลการดำเนินงานในอดีตหรือมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
หรือ บริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องของโครงสร้างเงินทุน อาจใช้ Debt-liked ICO เป็นทางเลือกเพื่อระดมทุนในระดับโครงการที่ต้องการ แทนการระดมทุนในระดับบริษัทภาพรวม และออกแบบแนวทางการจ่ายผลตอบแทนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงเป็นรายโครงการได้
ทั้งนี้ Debt-liked ICO อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับบริษัทที่ต้องการระดมทุนในสภาวะที่ตลาดตราสารหนี้โดยรวมขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่เพียงแต่เสริมสร้างความปลอดภัยและความโปร่งใสด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain แต่ยังช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลเพิ่มเติมที่เพียงพอในการวิเคราะห์โครงการและตัดสินใจลงทุน
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเนื้อหาบางส่วนของ Debt-liked ICO ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่อธิบายไว้ในบทความนี้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ให้มีการควบคุมที่เหมาะสมและการจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่า Debt-liked ICO จะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนสำหรับนักลงทุน