โจทย์ท้าทายดัน’บล็อกเชนไทย’เติบโต 'นโยบายรัฐบาล' เอื้อเอกชนพัฒนา
ในภาวะที่ “บล็อกเชน” เป็นคำที่ถูกค้นหาและพูดถึงมากในปัจจุบัน และตลาดคริปโทฯ กำลังเผชิญกับภาวะตลาดชะลอตัว ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ มีความผันผวน ยังมีหลายคนที่เชื่อว่าตลาดคริปโทฯ นั้นอยู่ในช่วงขาลงเพียงแค่ชั่วคราว และ “บล็อกเชน” เป็นเทคโนโลยีที่เติบโตได้
สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวถึง “อนาคตตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย” ในหัวข้อ “Build in Bear, Rise in Bull” ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าทั้งอุตสาหกรรมจะเติบโต 5-10 เท่า สะท้อนจากรายงานการเข้าถึงคริปโทในประเทศไทยอยู่อันดับที่ 10 ของโลก และฐานผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากกว่า 3 ล้านบัญชี พร้อมกับผู้ประกอบธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง
และ BTC Halving เหตุการณ์ที่จำนวน Bitcoin ใหม่ที่ขุดได้จะลดลงครึ่งหนึ่ง โดยเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี และ BTC Halving ครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานของบิตคอยน์ลดลง ประกอบกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม สิ่งนี้ส่งผลให้ตลาดคริปโทฯ มีฐานผู้ใช้งานที่กว้างขึ้น มีโอกาสเติบโตในอนาคต รวมถึงหลายประเทศเองก็มีการเปิดรับบล็อกเชนมากขึ้น
ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น มาสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงมุมมองจากการเก็งกำไรมาสู่การใช้งานจริงมากขึ้น ทั้งสเตเบิลคอยน์ และ CBDC หรือ “บาทดิจิทัล” ของรัฐบาลสะท้อนทิศทางสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยอย่างมีนัยะสำคัญ
นที เทพโภชน์ ผู้ก่อตั้ง Block Mountain ย้ำถึงมุมมองด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนตื่นตัวและตระหนักรู้ถึง “บล็อกเชน”มากขึ้น ถ้าหากไม่มีคุณค่าและความสำคัญ รัฐบาลและกลุ่มธุรกิจจะไม่เลือกใช้บล็อกเชนจนนำมาสู่นโยบายหาเสียงในปัจจุบัน ดังนั้นภาครัฐต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงการใช้งาน และการพัฒนาคนด้านเทคโนโลยีด้วย
ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Venture Director บริษัท กสิกร เอกซ์ จำกัด หรือ KX พูดถึงทิศทางอนาคตไทยในอนาคตผ่านหัวข้อ Blockchain Vision Forward “เปิดมุมมองอนาคตโลกบล็อกเชน” ว่าบล็อกเชนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจจนทำให้บริษัทซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เดินหน้าลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัปทั่วโลก จาก Decentralized Finance (DeFi) เป็นระบบการเงินแบบกระจายอำนาจผ่านบล็อกเชนที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ สามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงิน
ดังนั้น KX จึงมองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ในด้านบริการทางการเงิน (Financial Service) และบริการอื่น ๆ (Non-Financial Service) ที่มีโอกาสได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมในอนาคตอันใกล้นี้
โจทย์ที่ท้าทายของอนาคตอุตสาหกรรมบล็อกเชนไทย คือการประยุกต์ใช้ ซึ่งบล็อกเชนสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจแต่จะต้องสามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานได้จริงและง่ายต่อการเข้าถึง
ซึ่งจะสามารถยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยได้ด้วย ผ่าน 3 ส่วนสำคัญ คือ ”รัฐบาล” มีหน้าที่ช่วยพลักดันด้านนโยบายและกำกับดูแลอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพทั้งผู้ใช้งาน นักลงทุนและกลุ่มธุรกิจ
ถัดมาคือ “ภาคเอกชน” มีหน้าที่พัฒนารูปแบบบล็อกเชนให้มีความหลากหลาย เช่น KX ที่มีกลยุทธ์ในการลงทุนในบริษัทเทค หรือสตาร์ทอัปทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความรู้และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ
อย่างสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอนาคต คือ “การศึกษา”ในการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีเข้าสู่อุตสาหกรรม
ดีพร้อม สมเกียรติเจริญ หัวหน้านักพัฒนาจาก บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความปลอดภัยของข้อมูลที่ถูกนำไปวางอยู่บนบล็อกเชนเป็นสิ่งที่สำคัญ จากความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทำให้จะต้องคัดกรองข้อมูลที่มีความสำคัญให้ถี่ถ้วน พร้อมทั้งนำข้อดีของความโปร่งใสและไม่มีตัวกลางจะสามารถเข้ามาช่วยหน่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างดีในรูปแบบ Opendata หากนำมาเป็นตัวกลางในการทำงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
วิมลพรรณ วิบูลย์มา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรและการตลาด บริษัท บิทาซซ่า จำกัด เปิดมุมมองอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยที่มีความแข็งแกร่งเหนืออาเซียน ทั้งในแง่กลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก กลุ่มธุรกิจที่มีความแข็งแรง และหน่วยงานกำกับดูแลที่มีความเข้มงวดจนสามารถเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศ ซึ่งสามารถตั้งเป็น ศูนย์กลางด้านสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ “ฟินเทคฮับ” ได้ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ จากขณะนี้มีฟันด์โฟลว์จำนวนมากไหลออกจากระบบเศรษฐกิจสหรัฐ