อะไรที่อยู่เบื้องหลังการพองขึ้นมา และแตกโพล๊ะของ ฟองสบู่คริปโท
อะไรที่อยู่เบื้องหลังการพองขึ้นมา และแตกโพล๊ะของ ฟองสบู่คริปโท เมื่อฟองสบู่แตกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ?
- สถานการณ์เบื้องหลัง
1. ฟองสบู่ คืออะไร ?
"ฟองสบู่" ในที่นี้หมายถึง "ฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ" (Economic bubble) คือสถานการณ์ที่ราคาสินทรัพย์ในปัจจุบันสูงกว่าการประเมินมูลค่าที่แท้จริงอย่างมาก ส่วนการที่ราคาของสินทรัพย์สูงขึ้นมีหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือการเก็งกำไร โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่มีความต้องการสูง จะถูกปั่นราคาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ง่ายๆ ตราบใดที่มีคนต้องการมัน
2. ฟองสบู่แตกอย่างไร ?
จนกระทั่งมาถึงจุดที่จู่ๆ ผู้คนไม่ต้องการมันในทันทีทันใด เช่น เกิดจากนักเก็งกำไรบางคนเห็นว่าปั่นราคาสูงพอสมควรแล้วก็จะเทขายในทันที ทำให้ราคาตกลงมากระทันหัน และทำให้นักลงทุนในตลาดเพราะวิตกว่าจะขายไม่ได้ราคา นำไปสู่จนภาวะเทขายอย่างตื่นตระหนกพร้อมๆ กัน ราคาที่เคยสูง (หรือพองเหมือนฟองสบู่) ก็จะดิ่งลงมาในทันที ในบางกรณีสินทรัพย์นั้นๆ แทบจะไร้ราคาไปเลย ถึงจุดนี้แล้วฟองสบู่ที่พองอยู่ก็จะแตกในที่สุด
3. ทำไมคริปโทถึงเป็นฟองสบู่
สถานะของคริปโทเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดว่าตกลงแล้วมันเป็นสกุลเงินทางเลือกใหม่หรือว่าเป็นแค่ "สินทรัพย์" ที่เสี่ยงต่อการถูกเก็งกำไร เพราะมันมีคุณสมบัติที่พร้อมจะกลายเป็นสินทรัพย์แบบที่ว่าได้ นั่นคือ มีจำนวนจำกัด สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ก็จริงแต่ไม่มากนัก และมันอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม ทำให้ง่ายต่อการปลุกปั่นให้เกิดความต้องการอย่างรวดเร็ว ด้วยความที่มัน "ปั่นง่าย" ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนเตือนให้ควบคุมมันซะ เพราะมันอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจหาถูกใช้ในการปั่นหรือเก็งกำไรไม่หยุดไม่หย่อน
4. สกุลเงินอื่นเป็นฟองสบู่ได้ไหม ?
คริปโทฯ ถูกตั้งความหวังให้เป็นสกุลเงิน (Currency) หลักในการแลกเปลี่ยนของโลก แต่สถานะของมันยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะมีผู้ตั้งคำถามเรื่องมูลค่าแท้จริง (intrinsic value) ของมัน และไม่มีหลักประกันมูลค่า (collateral) และผู้ออกสกุลเงินที่ตรวจสอบได้ หรือร้องเรียนได้เมื่อมันเกิดปัญหา ต่างจากสกุลเงินหลักอื่นๆ ของโลก ซึ่งมีคุณสมบัติที่ว่าไว้ และสิ่งที่ต่างอีกอย่างคือ สกุลเงินหลักของโลกไม่เคยกลายเป็นฟองสบู่ เพราะแม้ว่ามันจะถูกปั่นหรือเก็งกำไรได้ แต่พื้นฐานของสกุลเงินต้องโยงกับสถาพเศรษฐกิจ "จริงๆ" ของประเทศนั้นๆ อยู่
5. เมื่อฟองสบู่แตกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อฟองสบู่อะไรสักอย่างแตก รัฐบาลจะเข้ามาช่วยประคองเพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายลุกลามไป แต่เพราะคริปโทเป็นสิ่งที่ไม่มีการประกันมูลค่าหรือรับรองโดยรัฐบาล นักลงทุนจำนวนมากจึงต้องพบกับสูญเสียอย่างหนักเมื่อฟองสบู่คริปโทแตก และไม่สามารถคาดหวังการชดเชยใดๆ ได้
แต่สิ่งแตกต่างจากสินทรัพย์อื่นๆ อีกอย่างคือ เมื่อฟองสบู่อะไรสักอย่างแตกไปแล้ว เป็นเรื่องยากที่มันจะเกิดฟองสบู่ประเภทเดิมซ้ำขึ้นมาอีก แต่กรณีของคริปโทมันเกิดฟองสบู่ขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เรียกว่า cryptocurrency booms and crashes แต่ละครั้งมีนักลงทุนสูญเสียมหาศาลทุกครั้ง ดูเหมือนว่าการแตกแต่ละครั้งไม่ทำให้พวกเขาหลาบจำเลย
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการพองและแตกของ ฟองสบู่คริปโท ก็คือ แต่ละครั้งราคาของมันจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วตกลงมาต่ำอย่างแรง จากนั้นจะใช้ฐานราคาใหม่แต่ขึ้นไปอีก แล้วก็ตกลงมาต่ำกว่าฐานราคาเดิมอีก และวนเวียนแบบนี้หลายครั้ง สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคริปโท มีปริมาณที่จำกัด ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นได้เรื่อยๆ (เหมือนทองคำ) และในเวลาเดียวกันผู้คนในโลกยังคาดหวังว่าคริปโทจะเป็นอนาคตทางการเงินยุคใหม่ ทำให้เกิดผลทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนยังเชื่อว่าลงทุนกับคริปโทแล้วจะไม่เสียหาย และยังเห็นว่ามันเป็น "เทรนด์" การลงทุนแบบใหม่ การคิดแบบนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ไม่จบสิ้น และแต่ละครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น มันจึง boom หลายครั้งแม้ว่าจะ crash หลายครั้งก็ตาม และแม้ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ หลังจากผ่านการ crash ก็ตาม แต่มีผู้สูญเสียมหาศาลจากการ crash มากกว่า ด้วยเหตุผลนี้ยิ่งทำให้ชัดเจนว่าคริปโทถูกใช้เป็นเครื่องมือของการเก็งกำไร แทนที่จะถูกใช้เป็นสกุลเงินแห่งอนาคต และทำให้มันถูกปั่นจนเป็นฟองสบู่หลายครั้ง โดยที่ครั้งแรกๆ (โดยเฉพาะครั้งที่ 1 และ 2) ตลาดยังไม่ใหญ่มากและความซับซ้อนของวิธีการเก็งกำไรยังไม่มาก ทำให้การขึ้นพรวดลงพรวดของราคาเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ เช่น
ฟองสบู่ครั้งที่ 1
- Bitcoin ราคาขึ้นมาที่ 1.06 ดอลลาร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011
- ราคาตกลงมาที่ 0.67 ดอลลาร์ ในเดือนเมษายน 2011
- ราคาขึ้นมาที่ 29.58 ดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายน 2011
- Bitcoin ราคาตกลงมาที่ 2.14 ดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2011
นี่คือปรากฏการณ์ฟองสบู่ครั้งแรก ซึ่งราคาน้อยจนไม่สำคัญ แต่มันเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าราคามันสวิงได้ผิดธรรมดาขนาดไหน หลังจากนั้นราคา Bitcoin ก็ทรงๆ ทรุดๆ มาเรื่อยๆ ระหว่างปี 2012 - 2013 จนกระทั่งถึงการก่อตัวของฟองสบู่ครั้งที่ 2 ซึ่งจู่ๆ ราคาก็พุ่งขึ้นมาแบบไม่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลัง
ฟองสบู่ครั้งที่ 2
- Bitcoin ราคาพุ่งขึ้นมาที่ 1,127.45 ดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2013
- ราคาตกลงมาที่ 172.15 ดอลลาร์ ในเดือนมกราคม 2015
ฟองสบู่ครั้งนี้มีขนาดเล็กเพราะคริปโทยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง และหลังจากนั้นราคาไม่ได้หวือหวาอะไร ผ่านไปอีก 2 ปี จนถึงปี 2017 ก็เกิดการก่อตัวของฟองสบู่ครั้งที่ 3
ฟองสบู่ครั้งที่ 3
ฟองสบู่ครั้งที่ 3 อาจเรียกได้ว่าเป็นฟองสบู่ที่ตรงกับนิยามมากที่สุด เพราะผลของมันไม่ใช่แค่ราคาที่พุ่งขึ้นผิดปกติแล้วดิ่งลงผิดปกติเหมือนเมื่อก่อน แต่ยังทำให้รัฐบาลมีปฏิริยาตอบโต้ในทางลบต่อคริปโท และทำให้กิจการเกี่ยวกับคริปโทหลายแห่งพังไปพร้อมๆ กันด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
- Bitcoin ราคาพุ่งขึ้นมาที่ 19,783.06 ดอลลาร์ในวันที่ 17 เดือนธันวาคม 2017
- ราคาตกลงมาที่ 11,000 ดอลลาร์ในวันที่ 22 ธันวาคม 2017 ลดลง 45% จากจุดสูงสุด
- ภายในเดือนกันยายน 2018 มูลค่าคริปโทฯ ลดลง 80% จากจุดสูงสุดในเดือนมกราคม 2018 ส่งผลให้ฟองสบู่ครั้งนี้เลวร้ายยิ่งกว่าการล่มสลายของฟองสบู่ดอทคอม (dot-com bubble)
- ราคาตกลงมาที่ 5,500 ดอลลาร์ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2018 และมูลค่าตลาดของ Bitcoin ลดลงต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017
- ราคาตกลงมาที่ต่ำกว่า 4,000 ดอลลาร์ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2018 ซึ่งลดลง 80% จากจุดสูงสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
- Bitcoin ราคาตกลงมาแตะระดับต่ำสุดที่ประมาณ 3,100 ดอลลาร์ในเดือนธันวาคม 2018 ก่อนที่จะปิดฉากปีนั้นที่ราคา 3,709 ดอลลาร์ หรือลดลง 73% ของทั้งปีนั้น
ฟองสบู่ครั้งที่ 4
หลังจากที่ราคาทรุดลงในเดือนธันวาคม 2018 ปี 2019 จะเป็นปีที่มันพักฟื้น และค่อยๆ แรงขึ้นมาอีกครั้ง เวลานี้ คริปโท ได้กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนไปแล้ว มันจึงไม่เหมือนฟองสบู่ครั้งที่ผ่านๆ มา เมื่อมีคนสนใจมาก ราคายิ่งฟื้นได้เร็วมาก ดังนั้นในเดือนกันยายน 2019 มันจึงไต่ขึ้นมาอยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์ได้อีกครั้ง ก่อนที่แผ่วลงไปอีกเล็กน้อย
- ระหว่างวันที่ 8 ถึง 12 มีนาคม 2020 ราคาตกลง 30% จาก 8,901 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 6,206 ดอลลาร์ สถานการณ์ช่วงนี้แผ่วลงไป เพราะการระบาดของโควิด-19
- แต่แล้วในระหว่างการระบาดใหญ่นั่นเอง ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังทรุดหนัก ภายในเดือนตุลาคม 2020 ราคา Bitcoin ก็ขึ้นมา 13,200 ดอลลาร์
- ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ราคาทะลุระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 19,000 ดอลลาร์
- ราคาพุ่งขึ้นอีกครั้งในวันที่ 3 มกราคม 2021 ขึ้นมาอยู่ที่ 34,792.47 ดอลลาร์
- ราคาพุ่งสูงกว่า 40,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในวันที่ 8 มกราคม 2021 มูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 700% ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020
- แม้ว่ามูลค่าจะพุ่งแรงขนาดนี้ แต่เมื่อวันที่ 11 มกราคม หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสหราชอาณาจักรเตือนนักลงทุนไม่ให้กู้ยืมหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และเตือนว่าพวกเขาควรเตรียมพร้อม "ที่จะสูญเสียเงินทั้งหมด"
- แม้จะมีคำเตือนออกมา แต่ราคาก็ยังขึ้นเอาๆ ไม่มีวี่แววจะ crash จนกระทั่งราคามาถึง 50,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2021
- ผ่านมาถึงวันที่ 13 มีนาคมทำราคาทะลุ 61,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก
- ช่วงนี้บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโทต่างก็รุ่งเรืองไปตามๆ กัน เช่น ในวันที่ 14 เมษายน Coinbase เข้าสู่ตลาดหุ้น NASDAQ เพราะความแรงของกระแสคริปโทในเวลานั้นผลคือราคาหุ้นของ Coinbase เพิ่มขึ้นมากกว่า 31% ในวันแรกส่งผลให้มูลค่าตลาดของบริษัทอยู่ที่ 8.58 หมื่นล้านดอลลาร์
- 21 เมษายน 2021 เจอโรม เพาเวลล์ ผู้วาการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) กล่าวว่าคริปโทส่วนใหญ่มีไว้สำหรับเก็งกำไร แต่คำเตือนนี้ไม่ทำให้ตลาดสั่นไหวได้ ตรงกันข้าม การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ เช่นการแจกเงิน ทำให้ประชาชนนำเงินนั้นมาลงทุน (หรือเก็งกำไร) ในคริปโทเสียอีก และทำให้มันแพงขึ้นเรื่อยๆๆ
- ราคาของคริปโทฯ อื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน เช่น ในเดือนพฤษภาคม 2021 มูลค่าของ Dogecoin ซึ่งแต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นเรื่องตลก เพิ่มขึ้นเป็น 20,000% ในหนึ่งปี
- ผ่านมาถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2021 ราคาก็ยังไม่ crash แต่ยังขึ้นไปแตะระดับสูงสุดใหม่ตลอดกาลที่ 66,974 ดอลลาร์
- และแล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2021 เมื่อจีนสั่งปิดกิจกรรมการซื้อขายและการขุดคริปโทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลสะเทือนต่อวงการอย่างหนัก เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ในการซื้อขายและยังเป็นแหล่งขุดชั้นนำของโลก
- ในขณะที่ทางการสหรัฐเริ่มที่จะชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิ ทำให้การปล่อยเงินเข้าสู่ตลาดลดลง เงินที่ไหลเข้าตลาดคริปโก็หายไป ดังนั้น ภายในสิ้นปี 2021 ราคา Bitcoin ลดลงเกือบ 30% จากจุดสูงสุดเหลือ 47,686.81 ดอลลาร์
- หายนะตัวจริงยังไม่มาถึง มันจะมาถึงในเดือนเมษายน 2022 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ประกาศว่าจะเริ่มวางกฎระเบียบเกี่ยวกับบริษัทซื้อขายคริปโท จุดนี้เองที่ทำให้มีการเทขายอย่างหนัก
- สถานการณ์ระหว่างเดือนเมษายน -พฤษภาคม 2022 แย่ลงไม่หยุด บริษัทคริปโทใหญ่ๆ เสี่ยงจะล้มชึ้นมาในทันทีและราคาของคริปโททรุดลงเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือการล่มสลายของ TerraUSD และบริษัท Terra-Lunaในเดือนพฤษภาคม 2022
- จนกระทั่งวันที่ 17 มิถุนายน 2022 ราคา Bitcoin ลดลงต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020
- แต่มันยังจบแค่นั้น แม้ว่าราคาจะพอทรงตัวไว้ได้หลังจากนั้น แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับวงการคริปโทยังล้มระเนระนาดไม่หยุด ซึ่งเป็นสัญญาณของฟองสบู่แตกชัดๆ หนึ่งในการล่มสลาย คือ FTX ในเดือนพฤศจิกายน 2022 เพราะปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
มันจะเกิดฟองสบู่อีกไหม? ต้องดูที่สถานการณ์ล่าสุด
ในปี 2023 ราคาของ Bitcoin ยิ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ เช่น เราจะเห็นวาเมื่อเริ่มต้นปี 2023 มูลค่าพุ่งขึ้นมาถึง 83% สู่ระดับสูงสุดที่ 31,035 ดอลลาร์ ราคายังดิ่ง 7.2% ในวันเดียวในช่วงกลางเดือนสิงหาคม โดยร่วงลงจาก 29,000 ดอลลาร์มาอยู่ที่ 26,000 ดอลลาร์ในเวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง การเคลื่อนไหวของราคาแบบนี้ยิ่งตอกย้ำว่ามันเป็นเครื่องมือการเก็งกำไรอย่างชัดเจน
และข้ามมาถึงปี 2023 ดูเหมือนว่า ภาวะฟองสบู่ ยังมีผลสะเทือนต่อบริษัทใหญ่ๆ ต่อไป คราวนี้สะเทือนถึงรายใหญ่ที่สุดคือ Binance โดยในวันที่ 21 กันยายน 2023 Binance รับสารภาพตามข้อกล่าวหาของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาว่าบริษัทเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การส่งเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต และการละเมิดการคว่ำบาตรโดยทำธุรกรรมกับประเทศต้องห้าม และตกลงที่จะจ่ายค่าปรับมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ ส่วน ฉางเผิง จ้าว ซึ่งถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งแห่งวงการคริปโท ต้องก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของ Binance
แต่สิ่งที่ประคองไม่ให้ราคาในปี 2023 สวิงหนักเหมือนตอนเกิดฟองสบู่ก่อนหน้านี้ มีสาเหตุมาจากความคาดหวังว่า SEC ของสหรัฐอเมริกาจะอนุญาตให้มีกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) สำหรับ Bitcoin ดังนั้นราคาจึงไม่ดิ่งมากนัก โดยรวมแล้วยังอยู่ในระดับ 30,000 ขึ้นไปได้อย่างง่ายดาย ส่วนราคาที่ดิ่งลงในเดือนสิงหาคมนั้น เป็นเพราะข่าวที่ SpaceX ขาย Bitcoin ที่ถือไว้ออกไป แต่นี่มีผลแค่ช่วงสั้นๆ เพราะหลังความคาดหวังต่อ ETF มีแรงผลักดนเหนือกว่า
ด้วยแรงผลักดันนี้ ดังนั้นแม้ว่าบริษัทคริปโทจะเจอปัญหาไม่หยุดโดยลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2021 แต่เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2023 Bitcoin ขึ้นมาเหนือระดับ 40,000 ดอลลาร์ เพราะตลาดเชื่อมกาขึ้นเรื่อยๆ ว่า SEC จะอนุมัติ ETF Bitcoin ในอีกไม่นาน และนั่นหมายความว่าคริปโทจะได้รับการยอมรับมากขึ้น และการคุ้มครองมากขึ้น และอาจจะหมายความว่ามันอาจจะกลายเป็นฟองสบู่ได้ยากขึ้นด้วย
อนาคตของคริปโทหลังการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นอย่างไร?
เราสามารถเดาได้จากปฏิกิริยาของมันในวันที่มีข่าวว่า SEC ของสหรัฐอเมริกาอนุมัติ ETF สำหรับ Bitcoin แล้วส่งผลให้ราคา Bitcoin พุ่งสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์ในวันนั้น (วันที่ 9 มกราคม 2024) แม้ว่าไม่นานนัก SEC จะบอกว่าข่าวนี้ยังไม่ยืนยัน แต่ในวันต่อมา (10 มกราคม 2024) SEC ก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งน่าจะสร้างความยินดีให้ตลาดอย่างมาก เพราะราคาขึ้นมาอยู่ที่หลัก 45,000 อีกครั้งในเดือนมกราคม 2024 หลังจากที่ไม่เห็นกันมาตั้งแต่ปี 2022
เพียงแต่ว่า SEC ยังคงบอกว่ายังไม่มั่นใจใน คริปโทเคอร์เรนซี่ เหมือนเดิม และนี่อาจมีผลต่อความผันผวนของราคา เหมือนกับที่หน่วยงานของรัฐทำให้เกิดความปั่นป่วนมาแล้วในช่วงที่เกิดฟองสบู่ครั้งก่อนๆ