โอกาสของ สินทรัพย์ดิจิทัล กับความพร้อมของนักลงทุนไทย
สินทรัพย์ดิจิทัล Digital Asset (DA) กลับมาเป็นที่พูดถึงและได้รับความสนใจมากอีกครั้ง หลังจากที่ทั้งตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
ไม่ใช่แค่นักลงทุนรายย่อยที่ให้ความสนใจกับ สินทรัพย์ดิจิทัล (DA) แต่ปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่ หรือแม้แต่รัฐบาลในหลายประเทศ ต่างให้ความสนใจกับ DA มากขึ้น
การที่ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ได้อนุมัติ Spot Bitcoin ETF เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดประตูให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่และนักลงทุน Traditional สามารถจัดสรรเงินทุนจำนวนมหาศาลเข้าสู่ตลาด DA ได้
แม้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเสี่ยงของ DA ไม่ได้หายไปไหน ความผันผวนและความไม่แน่นอนของตลาด DA ยังคงอยู่ในระดับสูง ยังมีการฉ้อโกง หลอกลวง Hacking
ความไม่ชัดเจนของกฎหมายและการกำกับดูแลในหลายประเทศยังคงอยู่ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ จะไม่ได้กระทบเฉพาะนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น แต่สามารถขยายตัว และส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวมด้วย
นโยบายส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดี จะต้องมีความสมดุลระหว่างการตักตวงโอกาสจาก DA แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันความเสี่ยงอย่างรัดกุมด้วยเช่นกัน แน่นอนว่ากว่าจะไปถึงนโยบายที่เหมาะสม เราต้องมีความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับ DA เสียก่อน
ดังนั้น ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษาร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จึงได้ริเริ่มโครงการซีรีส์องค์ความรู้แนวทางในการออกแบบและดําเนินนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัล ขึ้นมา
เพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับ DA และพัฒนาแนวนโยบายส่งเสริม DA ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเข้าใจของนักลงทุนไทย ความเสี่ยงของระบบ เบื้องลึกของเกณฑ์กำกับดูแล มองภาพอนาคตของธุรกิจ ประกอบเป็นชุดนโยบายที่จะช่วยผลักดันให้ไทยสามารถคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีนี้ได้
เมื่อถามว่า ความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนไทยเป็นอย่างไร แบบสอบถาม Digital Asset Investor 2023 ที่ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้จัดเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 3,000 คน พบว่ายังน่าเป็นห่วง
เพราะนอกจากจะตอบคำถามเกี่ยวกับการเงินพื้นฐานและสินทรัพย์ดิจิทัลผิดอยู่มาก นักลงทุนจำนวนมากยังมีปัญหาด้านการบริหารความเสี่ยงอีกด้วย เช่น
1) นักลงทุนร้อยละ 21.63 ของกลุ่มที่บอกว่าตัวเองไม่สามารถรับความเสี่ยงได้เลย กลับลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนสูง
2) ร้อยละ 20 ของกลุ่มที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มีที่มาของการลงทุนมาจากการกู้ยืม หรือ
3) กว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเกิน 40% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด
โดยกลุ่มที่ลงทุนใน Cryptocurrency ประมาณร้อยละ 25 ลงทุนเพียง 3 เหรียญเท่านั้น และมีถึงร้อยละ 8 ที่ลงทุนเพียงเหรียญเดียว สะท้อนว่านักลงทุน DA ยังไม่ค่อยกระจายความเสี่ยงสักเท่าไหร่
จากโอกาสที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะมีให้ตลาดเงินและตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพ (Efficiency) และการเข้าถึง (Accessibility) ซึ่งในมุมของการเข้าถึงนั้นน่าสนใจ
เพราะจากตัวเลขจำนวนบัญชีซื้อขายที่ใกล้เคียงกันมาก ระหว่างจำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ 3.5 ล้านบัญชีและจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ 3 ล้านบัญชี
หรือจากแบบสอบถามที่พบว่า ร้อยละ 13.8 ของนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลลงทุนครั้งแรกคือในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้ลงในสินทรัพย์ดั้งเดิมอื่นๆ เลย ประกอบกับขนาดของตลาด DA ยังถือว่ามีขนาดที่เล็กอยู่ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ในตลาดทุนดั้งเดิม เช่น ตลาดทองคำ แร่เงิน หรือตลาดหุ้น
ไม่ว่าจะเป็นของประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งในไทยเอง ที่ตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าการซื้อขายประมาณล้านล้านบาทต่อเดือนในขณะที่มูลค่าการซื้อขายของสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ประมาณหมื่นล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้น น่าสนใจว่า ตลาด DA จะยังมีช่องว่างให้สามารถเติบโตได้อีกมาก
สุดท้ายนี้ โอกาสจากสินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนโอกาสที่ลอยอยู่ในอากาศ คนที่มีความพร้อม มีความรู้และบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีเท่านั้นย่อมจะคว้าโอกาสนี้ไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประเทศ ที่ประเทศไทยต้องหาสมดุลระหว่างความเสี่ยงและโอกาสให้เจอ
เพื่อที่คว้าโอกาสในตลาดเงินและตลาดทุนนี้ให้ได้ รวมทั้งไม่เสียโอกาสทางเศรษฐกิจนี้ไปยังต่างประเทศเช่นกัน.