ภารกิจสำรวจความเสี่ยงสินทรัพย์ดิจิทัล: มุมมองเชิงลึกผ่านผู้เล่นหลัก
ในยุคที่สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) กำลังเป็นที่นิยมและมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น
จากข้อมูลของ Chainalysis ในปี 2023 ประเทศไทยติดอันดับที่ 10 ของโลกในดัชนี Global Crypto Adoption และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดพบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านระบบการเงินแบบกระจายศูนย์หรือ DeFi สูงถึงอันดับที่ 6 ของโลก
สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและความเชี่ยวชาญของผู้เล่นในประเทศไทย ที่มีต่อเทคโนโลยีการเงินสมัยใหม่นี้
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลก็มาพร้อมกับความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งความเสี่ยงแบบดั้งเดิมและความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อน
ดังนั้น เพื่อให้การลงทุนหรือการกำกับดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจความเสี่ยงเหล่านี้อย่างถ่องแท้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้ผ่านบทบาทของผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย
นักลงทุน: นอกจากความเสี่ยงแบบดั้งเดิมที่นักลงทุนต้องเผชิญ เช่น ความผันผวนของราคาในตลาด ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายกำกับดูแล และภัยคุกคามทางไซเบอร์แล้ว
นักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีบล็อกเชนด้วย
ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงจากการถูกขโมยกระเป๋าเงินดิจิทัล ความเสี่ยงจากการใช้ Leverage ในการเทรดสูงเกินไป ซึ่งทำได้ถึง 125 เท่าด้วยซ้ำ ความเสี่ยงจากพื้นฐานเชิงเศรษฐศาสตร์ของเหรียญ (Tokenomics) และความท้าทายในการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมักไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับเหมือนสินทรัพย์แบบดั้งเดิม
ผู้พัฒนาโครงการและผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล: ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ บนบล็อกเชน ผู้พัฒนาโครงการมักต้องเผชิญความเสี่ยงทางธุรกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เทคโนโลยีจะไม่ประสบความสำเร็จ การแข่งขันจากคู่แข่งรายอื่นๆ และความไม่แน่นอนของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นข้อจำกัดในการระดมทุน
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านเทคนิค เช่น ความเสี่ยงที่โครงการจะถูกโจมตีระบบ การควบคุมอุปทานเหรียญ และความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของเหรียญนั้นจะสลายไป
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐาน: ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแบบ DeFi เช่น Lending Protocol มักประสบปัญหาสภาพคล่องเมื่อระยะเวลาการลงทุนและการกู้ยืมไม่สอดคล้องกัน (Maturity Mismatch)
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากข้อบกพร่องและการถูกโจมตีของระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ความผิดพลาดของข้อมูลที่ได้รับจากผู้ให้บริการ Oracle รวมถึงความเสี่ยงจากข้อจำกัดในการส่งผ่านข้อมูลและสินทรัพย์ข้ามบล็อกเชน
หน่วยงานกำกับดูแลและระบบเศรษฐกิจโดยรวม: ในมุมมองเชิงเศรษฐกิจมหภาค การเติบโตอย่างรวดเร็วของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะสกุลเงินดิจิทัลอาจสร้างความท้าทายต่อภาครัฐในการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนเพราะเทคโนโลยีนี้เปิดช่องให้เคลื่อนย้ายเงินข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าหากเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นต่อเหรียญที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ ก็อาจส่งผลกระทบลูกโซ่สู่ตลาดตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนได้
เช่น กรณีของ Stablecoins ที่มีหลักประกันคือตราสารเหล่านี้จำนวนมหาศาล นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลยังเผชิญความท้าทายในการออกกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม
เนื่องจากกลไกตลาดแบบกระจายศูนย์และการทำงานอัตโนมัติที่มาพร้อมกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นแตกต่างจากตลาดการเงินแบบรวมศูนย์ที่คุ้นเคย
ถึงแม้ ณ ปัจจุบัน มูลค่าตลาดรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลจะยังเล็กเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ประเภทอื่น แต่อิทธิพลของเทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีนัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ การหลั่งไหลเข้ามาของเงินทุน ตลอดจนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีการเงินแบบดั้งเดิมย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
การตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมถึงความพยายามในการทำความเข้าใจและการจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบกฎเกณฑ์กำกับดูแล การประเมินความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุน ไปจนถึงการวิเคราะห์ผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจในระดับมหภาค
หากทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สมดุล คำนึงถึงความเสี่ยง มีกลไกป้องกันและคุ้มครองที่เหมาะสม ก็จะสามารถผลักดันให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมบนบล็อกเชนเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินในลงทุน” คำกล่าวนี้เราได้ยินกันมาเสมอจนคุ้นเคยและทราบกันดีว่าการลงทุนมีความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ในโลกอนาคตที่ผันผวนสูงมากและทุกอย่างเกิดขึ้นไวกว่าที่คิดนั้น การไม่ลงทุน การนิ่งเฉยก็อาจนับเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งและมีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน
คอลัมน์ คิดอนาคต
หทัยภัทร วินัยแพทย์
ไท วัฒนา
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)
Facebook.com/thailandfuturefoundation