‘บิทคับ’ พร้อมเปิดสวิตช์โทเคนไนเซชัน ‘คาร์บอนเครดิต’ เทรด ภายใน 24 ชั่วโมง
‘บิทคับ’ พร้อมเปิดสวิตช์ โทเคนไนเซชัน‘ คาร์บอนเครดิต’ เทรด ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อรัฐบาลพร้อม จากความพร้อมด้านเทคโนโลยีของบิทคับที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในตลาด พร้อมเสนอมุมมองด้าน ESG ที่ไทยต้องเร่งรีสกิล อัปสกิล เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางโลกอนาคต
“ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา A Call to Action Go Green 2024 : The Ambition of Thailand ในวงเสวนา The Climate Tech for Goal Green เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทั่วโลกมีการพูดถึง Climate tech หรือเทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นทุกๆ ปี ในวงการเทคโนโลยี
โดยที่อุตสาหกรรมนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้พร้อมกันทั้งโลก ก็ต่อเมื่อมีเงินทุนจากสถาบันเข้ามาในกรีนซัพพลายเชน โดยเหล่าสถาบันต้องมีการลงทุน 5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 5% ของ GDP ทุกปีไปจนถึงปี 2593 โลกถึงจะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ Net Zero
แต่ทว่าภาคธุรกิจอยู่ระหว่างการค้นหากลไกที่ทำให้เงินทุนสถาบันเข้ามาในอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น เพราะนักลงทุนสถาบันจะสนใจลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรเท่านั้น แต่ธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับกรีนซัพพลายเชนโดยตรงในตอนนี้ส่วนใหญ่ยังคงขาดทุน ทำให้เงินทุนที่จะเข้ามาในตลาดจำนวน 5 ล้านล้านในทุกปีไปไม่ถึงกรีนซัพพลายเชนได้
เมื่อโลกของเราแตกเป็นเศษส่วน และพยายามแข่งขันกันเพื่อเป็นที่ 1 ในด้านต่างๆ โดยประเทศไทยอยู่ในทวีปอาเซียนคือ “โกลบอลเซาท์” มีสัดส่วนประชากรกว่า 2 ใน 3 ของโลก ที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้าน Climate Tech
รวมทั้ง Climate Tech จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าหลายอย่างอยู่รอบตัวเราในตอนนี้ แต่ยังมีกำแพงอย่าง “Green Premium” ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ยากขึ้นเพราะยังมี “ราคาแพง” โดยที่วงการแรกที่กำลังเปลี่ยนไปสู่เป้าหมายได้เร็วที่สุดคือ วงการรถยนต์ไฟฟ้า และกำลังเปลี่ยนไปในอนาคต เช่น “มีทแลปส์” จะเข้ามาแทนที่การบริโภคเนื้อสดที่สร้างคาร์บอนจำนวนมหาศาลให้กับโลก
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่โลกพร้อมสู่ Climate Tech แล้ว “บิทคับ” พร้อมเปิดสวิตช์การเทรดคาร์บอนเครดิตใน 24 ชั่วโมง เพราะมีความพร้อมด้านความรู้ และเทคโนโลยีสามารถสร้างอีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนสีเขียวได้ทันที แต่ยังรอความชัดเจนด้านกฎระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย และการกำกับดูแลจากรัฐบาล เพราะบิทคับเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคนใช้มากถึง 95% ของตลาด และมีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 4 พันล้านบาทต่อวัน
“เมื่อไหร่ที่รัฐบาลพร้อมเข้าสู่กรีนซัพพลายเชน บิทคับพร้อมเปิดสวิตช์โทเคนไนซ์คาร์บอนเครดิต และโทเคนไนซ์ยูนิตไฟฟ้า พร้อมให้ทุกคนเทรดได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพราะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีหลังบ้านอยู่แล้ว”
บิทคับเป็นหนึ่งในตัวแทนภาคเอกชนที่ผลักดัน“อีเอสจี” โดยได้เริ่มทำ 5 ข้อ จากเป้าหมาย SDGs 17 ประการ
และเริ่มต้นจากภายในองค์กรแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่โลกเปลี่ยนไปสู่กรีนซัพพลายเชน สิ่งที่ทำให้พฤติกรรมของบริษัท และธุรกิจต้องเปลี่ยนก็ต่อเมื่อกระทบกับเงินในกระเป๋า และถูกบีบให้เข้ามาสู่โลกซัพพลายเชนมากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลต้องสนับสนุนการสร้างซัพพลายเชนสีเขียว เพราะมีแต่ผู้นำในโลกธุรกิจที่เคลื่อนไหวแต่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยยังก้าวตามไม่ทัน
“จิรายุส” มีความกังวลสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่มีความรู้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ขับเคลื่อน GDP ของประเทศ ซึ่งตราบใดที่ธุรกิจยังไม่ได้รับผลกระทบ ยังไม่เดือดร้อนก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นก็ต้องมีกฎเกณฑ์ กฎระเบียบข้อบังคับเข้ามาเปิดทาง รวมทั้งประเทศไทยต้องเร่งรีสกิลและอัปสกิล เช่น การสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้านสำหรับกรีนซัพพลายเชนในอนาคต
“ดิจิทัล กรีน เรโวลูชัน” คือ ทิศทางของโลกธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมกับอาเซียนกำลังเข้าสู่ยุคทองคำ ดังนั้นเราต้องเตรียมขันตักน้ำ คือ การรีบเตรียมสร้างองค์ความรู้ ดังนั้นทั้งโลกต้องรีสกิล อัปสกิลเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกในอนาคต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์