พัฒนาโครงสร้าง ค้นหาจุดแข็ง: Road to Thailand Decen. Adoption
ทุกท่านคงได้ยินกันมามากแล้วว่า สินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีกระจายศูนย์มีความน่าสนใจอย่างไร โอกาสและความเสี่ยงที่มีต่อผู้ลงทุน ผู้ระดมทุน ผู้ประกอบการและช่องว่างในการกำกับดูแล รวมถึงเหตุผลว่าทำไมการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในตลาดทุนไทยอาจยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง
ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกท่านมาร่วมกันคิดว่า ไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ได้อย่างไร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงนักลงทุนหรือนักระดมทุน เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานของโลกใบนี้ด้วย
หากให้เสนอแนวทางในการส่งเสริม โดยโฟกัสไปที่การพัฒนาระบบนิเวศหรือการเติบโตของอุตสาหกรรมในภาพรวม พบว่ามีสองแนวทางที่ควรเร่งทำ คือ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และ 2.การค้นหาจุดแข็งของประเทศ
๐ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่นิยมในโลกของเทคโนโลยีกระจายศูนย์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และมาแรงไม่แพ้กับการทำ Real World Asset Tokenisation คือแนวคิดเรื่อง DePIN (Decentralised Physical Infrastructure Networks) หรือเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพแบบกระจายศูนย์
แนวคิดนี้เปิดโอกาสให้เรากระจายความเป็นเจ้าของ และอำนาจการควบคุมโครงสร้างพื้นฐานในโลกจริง อย่างพลังงาน แบนด์วิดท์ หรือพื้นที่เก็บข้อมูล ผ่านเครือข่าย Peer-to-Peer โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ผู้ใช้หรือเจ้าของสามารถมีส่วนร่วมและได้รับผลตอบแทนจากการแบ่งปันทรัพยากรเหล่านี้ได้
ในไทย แม้จะมีผู้เล่นที่มีศักยภาพมากมาย แต่ต้องยอมรับว่า ไทยยังขาดผู้พัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น นักพัฒนาบล็อกเชน นักวิจัยอัลกอริทึ่มใหม่ๆ และผู้ประกอบการ scaling solutions รวมทั้งรัฐก็ยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้
ทำให้ที่ผ่านมา เราอาจจะปล่อยโอกาสดีๆ หลุดมือไป เช่น กรณีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ที่สุดท้ายแล้วไม่สามารถนำบล็อกเชนมาใช้ได้จริง เนื่องจากเราขาดผู้ผลิตระบบที่พร้อม
ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ รัฐต้องวางแผนและกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Roadmap) จัดตั้งศูนย์วิจัยหรือห้องปฏิบัติการ และจัดทำโครงการต่างๆ โดยความร่วมมือกันของรัฐบาล มหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม
สุดท้าย รัฐบาลและภาคเอกชนอาจร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยรัฐอาจเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนของเงินทุน ร่วมแบกรับความเสี่ยง หรือเข้ามาดำเนินการในบางจุดที่รัฐอาจจะต้องลงมาเล่นเอง เช่น การป้องกันการฟอกเงินและการก่อการร้าย การจัดหาผู้ตรวจสอบบล็อกเชน (Validator) ที่มั่นคงปลอดภัย และสามารถปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลได้ เป็นต้น
หากทำได้เช่นนี้ นอกจากจะทำให้ไทยมีเทคโนโลยีพร้อมใช้เมื่อถึงเวลาจำเป็น ยังจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสะดวกต่อการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ (Ease of Doing Business) ทั้งสำหรับผู้เล่นจากต่างชาติและในประเทศ เมื่อมีผู้เล่นหลากหลายมากขึ้น ก็จะนำไปสู่การแบ่งปันความรู้ การรวมกลุ่ม (Clustering) กระตุ้นการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนในที่สุด
๐ การค้นหาจุดแข็งของประเทศ
แนวทางที่สองที่น่าสนใจคือ การค้นหาจุดแข็งภายในประเทศ (Domestic Strengths Discovery) เพื่อระบุว่าเราควรเลือกสนับสนุนผู้เล่นกลุ่มใดเป็นลำดับต้นๆ เพื่อผลักดันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้ก้าวข้ามการเก็งกำไรในสกุลเงินดิจิทัล (Crypto Speculation) ไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Crypto Innovation)
ที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีทั้งผู้ผลิตและตลาดที่มีศักยภาพหลากหลาย ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถต่อยอดต่อไปได้อย่างมาก
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าประเทศไทยมีจุดแข็งที่โดดเด่นด้านใดบ้าง เช่น ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอาหาร แล้วนำมาบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีกระจายศูนย์นี้ให้ได้
สิ่งที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องควรดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น ต้องมีกระบวนการค้นหาจุดแข็งภายใน (Inwards Strength Finding) เพื่อระบุข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ โดยอาจจะเป็นการหาพื้นที่เล่นเฉพาะทาง (Niche Playing Area)
หลังจากนั้นต้องให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ ให้ใช้จุดแข็งเหล่านี้ในการสร้างสรรค์สินทรัพย์ดิจิทัลและนวัตกรรม ผ่านทั้งเครื่องมือทางกฎหมาย เงินทุน หรือนโยบายกระตุ้นต่างๆ เป็นต้น
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เราสามารถส่งออกวัฒนธรรมไปสู่ระดับโลกได้อย่างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น ทั้ง Art Toys หรือดาราและศิลปิน อย่าง Cry Baby หมีเนย ลิซ่า หรือหมูเด้ง การลงทุนในเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิงและศิลปะ เช่น Fan Token หรือ SocialFi จึงเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยมีวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์และมีพลวัต
หากเราสามารถคาดการณ์แนวโน้มและเตรียมเทคโนโลยีให้พร้อม ก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากและไม่เสียโอกาสให้ต่างชาติคว้าไปทำแทนได้.