เศรษฐกิจไทยเติบโตแข็งแกร่ง
จากรายงานของสภาพัฒน์ระบุว่า จีดีพีไตรมาส 2/65 ของไทยโตเพียง 2.5% ซึ่งเป็นการเติบโตน้อยกว่าที่ตลาดคาด และสภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้สู่ 2.7 – 3.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.95% เทียบกับคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 2.5 – 3.5% ซึ่งมีค่ากลางอยู่ที่ 3.00%
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขของสภาพัฒน์ ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะอ่อนแอลง แต่ทำไมหน่วยงานต่างๆจึงส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง? ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขการบริโภค และการส่งออกของไทยแข็งแกร่งต่อเนื่อง แต่ทำไมตัวเลขจีดีพีของไทยจึงออกมาต่ำกว่าที่คาด?
ในการคำนวณตัวเลขจีดีพี สมการที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คุ้นเคยคือ จีดีพี = การบริโภค + การลงทุน + การใช้จ่ายภาครัฐ +(การส่งออก – การนำเข้า) หรือ GDP = C + I +G +(ex – im) ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดในรายงานของสภาพัฒน์พบว่า ในไตรมาส 2ปี 2565 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโต 6.9%
การลงทุนรวมหดตัว 1.0% การอุปโภคภาครัฐโต 2.4% และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 7.0% ของจีดีพี จึงอาจประเมินได้ว่าตัวเลขจีดีพีถูกฉุดจากการหดตัวของการลงทุนและการขาดดุลการค้าและบริการ แต่เมื่อคำนวณตัวเลขจีดีพีตามสูตรดังกล่าว จะพบว่า จีดีพีไตรมาส 2ปี 2565 ของไทยโตถึง 5.03% หลังจากโต 5.19% ในไตรมาส 1/65 ซึ่งแตกต่างจากตัวเลขที่รายงานมาก
ทั้งนี้ ในการคำนวณตัวเลขจีดีพีที่เป็นมาตรฐานยอมรับเป็นสากลไม่ได้มีวิธีเดียว โดยการคำนวณจาก GDP = C + I +G +(ex – im) เป็นการคำนวณโดยดูด้านการใช้จ่าย (expenditure approach) ในขณะที่ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีของไทยคำนวณมาจากด้านการผลิต (production approach) ซึ่งประกอบด้วย ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
โดยตัวเลขด้านการผลิตถูกฉุดโดยการหดตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนอุปทาน โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์ และการหดตัวของภาคก่อสร้างอันเนื่องมาจากยังไม่มีโครงการเมกะโปรเจ็คท์ใหม่ๆของภาครัฐหลังโครงการเดิมทยอยเสร็จสิ้นไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวเลขค่ากลางคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ถูกปรับลงเล็กน้อยจาก 3.00% เป็น 2.95% แต่หากดูในรายละเอียดเพิ่มเติมพบว่าจีดีพีในภาพรวมถูกปรับสูงขึ้น โดยมูลค่าจีดีพีของไทยในปีนี้ถูกปรับขึ้นจาก 17.36 ล้านล้านบาท เป็น 17.63 ล้านล้านบาท แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงถูกปรับลงจากผลของเงินเฟ้อ สะท้อนว่าจริงๆแล้วสภาพัฒน์มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
จากความแตกต่าง ของการคำนวณจีดีพีจากด้านการใช้จ่ายกับด้านการผลิตส่งผลให้ในบางครั้งตัวเลขจีดีพีออกมาดี แต่คนส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี กล่าวคือ ภาคการผลิตเติบโตแข็งแกร่ง แต่รายได้ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ผู้บริโภคจึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น
ในขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบัน คนไทยเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ตัวเลขจีดีพีกลับโตไม่มาก เพราะภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนอุปทาน อย่างไรก็ดี การคำนวณจีดีพีโดยดูจากด้านการใช้จ่ายหรือด้านการผลิต ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ซึ่งผ่านการวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมมาอย่างดีแล้ว
สำหรับแนวโน้มต่อจากนี้ หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยด้านการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังผู้ผลิตเริ่มได้รับวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากต่างประเทศ รวมถึงมีสัญญาณบวกจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเนื่อง
ในส่วนของภาคการก่อสร้างซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดจีดีพีไตรมาส 2ปี 2565 ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า การเบิกจ่ายในไตรมาส 2 ปี 2565 มีความติดขัดบางประการ และจะเริ่มเบิกจ่ายได้มากขึ้นในไตรมาส 3/65 จึงเป็นสัญญาณว่าภาคการก่อสร้างน่าจะกลับมาขยายตัว
ในด้านการใช้จ่าย ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาดมาก โดยในช่วง 7 เดือนแรก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยอยู่ที่ ราว 3.2 ล้านคน และข้อมูลเบื้องต้นระบุว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยอีก 1.4 ล้านคนในเดือนส.ค. ซึ่งหากสมมุติว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเดือนละ 1.4 ล้านในช่วงที่เหลือของปี จะส่งผลให้ตลอดปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยกว่า 10 ล้านคน
อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่ตัวเลขจริงจะสูงกว่านี้ เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปีเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากกว่าปกติ สำหรับภาคการส่งออกสินค้าก็มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาดเช่นกันหลังมีสัญญาณเชิงบวกจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง เนื่องจากผู้บริโภคมีรายได้มากขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด-19 และราคาน้ำมันปรับตัวลดลงส่งผลให้ผู้บริโภคมีเงินมากขึ้นสำหรับการใช้จ่ายในด้านอื่นๆ อีกทั้งมีแนวโน้มที่คนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นหลังจากที่ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมาเป็นเวลานาน
ดังนั้น ถึงแม้ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2ปี 2565 ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด แต่ก็เป็นผลมาจากปัจจัยบางประการ ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตค่อนข้างสดใส ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทต่างๆ และเมื่อผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น การลงทุนก็จะตามมา ซึ่งหมายความว่าจะมีปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น