แบงก์ชาติ ชี้ 4 กระแส ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โตต่อไม่สะดุด

แบงก์ชาติ ชี้ 4 กระแส ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โตต่อไม่สะดุด

ผู้ว่าแบงก์ชาติจับตาเงินเฟ้อใกล้ชิด หวั่นซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน หากบริบทเปลี่ยนจำเป็นขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ก็พร้อมทำ ด้านประธานเฟทโก้ ห่วงเศรษฐกิจโลกถดถอยกว่าที่คาด แนะรัฐเร่งเดินหน้า 3 มาตรการ ปลุกลงทุน-ดึงเงินต่างชาติ-บูมท่องเที่ยว"รับมือ

       นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมนา‘การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย’ The Great Reset จัดโดยสถานีข่าว TNN ว่า ก้าวต่อไปของธปท. จะพยายามปูรากฐานต่างๆในฝั่งการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวต่อไปภายใต้การคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ที่โตระดับ 3% และปีหน้าโต 4% ​

        โจทย์ถัดไปของการดำเนินนโยบายการเงินคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจก้าวต่อไปอย่างไม่สะดุด ในทิศทางที่ถูก และไปให้ถูกทิศทาง สิ่งที่ต้องคำนึงถึง มี 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.กระแสดิจิทัลที่โควิด มาเป็นตัวเร่งให้การเข้าถึงดิจิทัล เข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ส่งผลให้การชำระเงินบนดิจิทัลเพิ่มขึ้น 3 เท่า

     โดยทำให้การทำธุรกรรมการเงินเปลี่ยนไปมหาศาล ส่งผลให้ผู้เล่น อย่างสถาบันการเงินต้องปิดสาขาไปกว่า 1,000 แห่ง นับตั้งแต่ปี 2562 เพราะถูกดีสรัปชันจากดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการดำเนินนโยบายของธปท.ก็ต้องเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของการออกภูมิทัศน์โลกการเงินยุคใหม่ เพื่อฉายภาพการเปิดกว้างไปที่ 3 ด้าน คือการ Open competiton ให้ผู้เล่นใหม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น 

        สำหรับถัดมาคือ Open data ทำให้ข้อมูลไหลไปมาได้สะดวกขึ้น เพื่อเอื้อความสะดวกของคน เช่น หนุนให้คนเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปสาขา และสุดท้ายคือ Open infrastructure คือการเปิดให้ผู้เล่นใหม่เข้าถึงได้เท่าเทียมมากขึ้น และสร้าง infratructure ใหม่ๆ นวัตกรรมต่างๆมากขึ้น 

      เช่น การออกสกุลเงินดิจิทัล   หรือ CBDC ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นผู้ออก และเป็น หนึ่งใน10ธนาคารกลาง ของโลกที่มีการ ทดลองการทำ CBDC การทำธุรกรรมการโอนเงินข้ามประเทศ และจะมีการทดลองทำ CBDC สำหรับประชาชนรายย่อย ในปีนี้ ที่จะรันไป 6 เดือน เพื่อเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อม ว่าเมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นในการออก CBDC  เราก็พร้อม
    แต่เรื่องดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่เร็ว เพราะธนาคารกลางแทบจะทั่วโลกที่ไม่มีใครเร่งเรื่องนี้ ทำให้ทุกธนาคารกลางอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม ศึกษา และหากจำเป็นก็เปิดสวิซมาทำเรื่องนี้
    ถามว่าทำไม เพราะ สิ่งสำคัญคือ ต้องบาลานซ์ ต้องสร้างสมดุล ระหว่างประโยชน์ที่ได้จากนวัตกรรม และความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่มีผลต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ที่เป็นหน้าที่ที่ธปท.ต้องดูแล 
     ดังนั้น แม้จะมองว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่ใช่ทุกนวัตกรรม ที่สร้างประโยชน์ ดังนั้นต้องหาบาลานซ์ หาจุดสมดุลสิ่งเหล่านี้ และอะไรที่ไม่สร้างประโยชน์ แต่นำมาสู่ความเสี่ยง ก็ไม่เอา

      เช่น คริปโตเคอเรนซี่ ที่นำมาเป็นสื่อกลางชำระเงิน อันนี้ยังไม่เห็นประโยชน์ที่ชัด เพราะวันนี้ระบบการชำระเงินในปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว แถมยังสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ชัดเจน คือสิ่งที่ธปท.ไม่อยากเห็น 
        ดังนั้นนวัตกรรมบางอย่าง อาจสร้างประโยชน์ แต่เราก็ไม่รู้ว่าความเสี่ยงเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่ธปท.ทำคือ การมี Guardrail หรือราวกั้น เพื่อให้มีพื้นที่พอในการทดสอบดูว่าเป็นอย่างไร หากเวลาผ่านไป หากไม่เสี่ยงมากนักก็ขยาย Guardrail แต่หากเสี่ยงก็ทำให้ราวกั้นแคบลง   

     ส่งผลให้ธปท.มีการออกเกณฑ์เพดานการลงทุนธนาคารพาณิชย์ในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อหาจุดสมดุล ระหว่างนวัตกรรมกับการดูแลด้านเสถียรภาพ และหากมีนวัตกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยกับระบบ นวัตกรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์ เช่นการลงทุนผ่านฟินเทค เหล่านี้ธปท.ก็มีการยกเลิกการกำหนดเพดานการลงทุนออกไป 

แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน

     2.กระแสสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร แต่เรื่องนี้สำคัญที่สุด ธปท.จึงจำเป็นที่ต้องออกนโยบายมารองรับกระแสเหล่านี้

      จึงเป็นที่มาของการออกแนวนโยบาย เพื่อวางพื้นฐาน ทำให้ประเทศ ธุรกิจ ประชาชน ปรับเข้าสู่ความยั่งยืนอย่าง Smooth และไม่มีสะดุดจนเกินไป เช่นการกำหนดมาตรฐานกลางว่าอะไรคือสีเขียว ไม่เขียว เริ่มที่กลุ่มพลังงาน และขนส่งที่จะออกมาในต้นปีหน้า

      3. หนี้ครัวเรือนที่การแก้ไขปัญหาไม่ได้ในเร็ววัน ดังนั้นต้องแก้อย่างยั่งยืน ทำให้ที่ผ่านมาธปท. พยายามออกมาตรการการเงินเพื่อช่วยภาคครัวเรือน เช่นการแก้การผิดนัดชำระหนี้ คลินิกแก้หนี้ มาตรการไกล่เกลี่ยหนี้

    และ 4.การลงทุน ที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโตช้า เพราะการลงทุนที่แผ่วลง หากเทียบกับเพื่อนบ้าน ดังนั้นการก้าวอย่างสง่า ต้องทำให้เครื่องยนต์นี้ติดให้ได้ และมีหลายด้านที่ทำให้การลงทุนไม่ฟื้นเท่าที่ควรคือ และภาครัฐไม่ควรทำ เช่นการยกเลิกออกกฏระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน เพื่อให้การลงทุนกลับมา

คุมเงินเฟ้อไม่ให้หลุดกรอบ

    อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่าง Smooth Takeoff การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่เจอจุดที่สะดุดเกินไป และตัวที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้ คือเงินเฟ้อ

     หากสูงต่อเนื่องและธปท.ไม่ทำอะไร อาจเป็นปัญหาบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือน ซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงอยู่แล้ว และอาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อหลุดกรอบ และส่งผลต่อการขาดเสถียรภาพตามมา

     ดังนั้นโจทย์ของการดำเนินนโยบายการเงิน คือ ทำอย่างไรไม่ให้เงินเฟ้อยิ่งวิ่งยาว จนส่งผลให้เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางหลุดกรอบ จึงเป็นที่มาที่ ธปท.จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.25% 
       นอกจากนี้ เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง ทำให้ระบบการเงินทำงานปกติ ธปท.ไม่อยากเห็นหนี้เสียในระบบเศรษบกิจที่วิ่งแรง ไม่อยากเห็นการปล่อยสินเชื่อของะนาคารพาณิชย์เข้มงวดจนเกินไป ทำให้การ Takeoff ไม่เกิด จึงกลับมาที่โจทย์ว่า นโยบายการเงินที่เหมาะสมต้องทำอย่างไร
     ดังนั้นโฟกัส คือต้องชิฟ ไปดูด้านเงินเฟ้อมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ 
    การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องปรับไปสู่ภาวะปกติ หรือ  Normalization  เหมือนถอนคันเร่ง ไม่ใช่เหยียบเบรก ให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจไทย ที่มีความเสี่ยงเงินเฟ้อมากกว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้จำเป็นที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพราะความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น 
      อย่างไรก็ตาม การปรับนโยบายการเงิน ของธปท.ยัง ปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป แตกต่างกับการดำเนินนโยบายการเงินของต่างประเทศ ที่เห็นการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เช่นธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยแบบจัดเต็ม ครั้งละ 0.75%

      ถามว่าทำไม เราไม่ทำแบบนั้น เพราะบริบทเราต่างกัน โจทย์เราคือ Smooth takeoff เพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ต่างกับสหรัฐที่ต้องการทำให้เกิด ซอฟท์แลนดิ้ง เพราะเศรษฐกิจร้อนแรง ดังนั้นเห็นได้ชัดเจนว่า บริบทเศรษฐกิจต่างกัน และเศรษฐกิจสหรัฐ ฟื้นตัวไปก่อนระดับก่อนโควิดไปแล้ว และมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปสงค์หรือจากดีมานด์  แตกต่างกับไทย ที่การฟื้นตัวยังเพิ่งเริ่ม 
       “การที่เฟดต้องเหยียบเบรก เพราะเงินเฟ้อมาจากอุปสงค์เยอะ แต่บ้านเราไม่เป็นแบบนั้น การฟื้นตัวเรายังค่อยเป็นค่อยไป ทำให้บริบทเราต่างกัน นโยบายการเงินก็ไม่ควรเหมือนกันกับเขา เราควรเหมาะกับบริบทของเรา จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากดูเหมือนว่ามีสัญญาญเศรษฐกิจหยุดสักช่วงหนึ่ง เราก็จะทำ แต่หากสัญญาณเศรษฐกิจสะท้อนว่าเหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า0.25% เราก็จะทำ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทกับเรา”

     อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการที่ประเทศไทยไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเหมือนประเทศอื่นๆ แล้วจะเกิด Behind the Curve หรือไม่ไม่ เพราะหากดูประเทศที่มีการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว เช่นสหรัฐ อังกฤษ เกาหลี มาเลเซีย ส่วนใหญ่ขึ้นดอกเบี้ยหลังจากเศรษฐกิจกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ไปแล้ว

      แต่ของไทย เพิ่งเร่ิมขึ้นดอกเบี้ย และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับไปก่อนโควิด-19 

จุดอ่อนเศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่ว

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

     โดยนักเศรษฐศาสตร์มีการคาดว่า เศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้ที่ระดับ 3% และปีหน้าจะไปเฉียด 4%ได้ แต่ท่ามกลางการฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยกำลังเหมือน “แฝดสยาม” ที่เศรษฐกิจเติบโตได้ แต่แยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเติบโตได้แข็งแกร่ง อีกฝั่งหนึ่งอ่อนแอ กำลังตะเกียกตะกายเพื่อความอยู่รอด

      โดยจะเห็นได้จากหลายอุตสาหกรรม ที่ยังมีหลายอุตสาหกรรมปรับตัวได้ และปรับตัวไม่ได้ และในแต่ละอุตสาหกรรม การฟื้นตัวยังไม่เหมือนกัน เพราะมีความเหลื่อมล้ำ โตไม่ทั่วถึง

     แม้เศรษฐจะโตเฉียด 4% ปีหน้า แต่ดูเฉพาะตัวเลขไม่ได้ เพราะทุกคนไม่ได้โตไปพร้อมกัน ดังนั้นการทำนโยบายการเงินการคลังเพื่อดูแลกลุ่มอ่อนแอยังจำเป็น

ชี้เงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงใหญ่

     สำหรับประเด็นสุดท้าย ที่น่ากลัวสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ เงินเฟ้อ ที่เป็นความเสี่ยงของประเทศ แม้เงินเฟ้อปัจจุบันอาจไปถึงจุดสูงสุดไปแล้ว หรือใกล้ปรับลด 

      แต่การที่จะให้เงินเฟ้อกลับไปที่ระดับ 1-2% คงต้องใช้เวลา และหากดูเงินเฟ้อปัจจุบัน พบว่าต้นทุนของผู้ประกอบการปรับขึ้นแล้ว 20-30% แต่ยังไม่ถูกส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภค ดังนั้นอาจเห็นการสะท้อนต้นทุนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า 

      อีกทั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การเติบโตของท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้นอาจทำให้ ราคาสินค้าต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ ดังนั้นมองว่า ภายใต้เงินเฟ้อยังสูง เชื่อว่าธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2ครั้งปีนี้ ครั้งละ 0.25%

  เฟทโก้ชง3มาตรการรับมือศก.โลกถดถอย

     นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทย ยังมีความเสี่ยงที่น่ากังวลหากสถานการณ์ต่างๆไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาด หากเงินเฟ้อสหรัฐยังขึ้นไม่หยุด ส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 5-6% และทำเรื่องคิวที ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเป็นพิเศษ และตลาดหุ้นผันผวน

   ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีโอกาสถดถอยแรงและลึกว่าที่คิดไว้ และส่งผลกระทบต่อประเทศเกิดใหม่มีความเสี่ยงเกิดวิกฤติสภาพคล่องตามมาได้

      ทั้งนี้“ประเทศไทย” ยังมีเวลาอีก 1 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว มองว่า ภาครัฐต้องเตรียมมาตรการ 3 ด้าน 1.การเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ที่อนุมัติแล้ว อย่างอีอีซี สนามบิน ท่าเรือ หรือ โครงการคมนาคมเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ชนบท 

       2. การดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) โดยเฉพาะไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป เข้ามามากขึ้น ด้วยการปรับลดกฎหมายเกณฑ์การลงทุน 3. มาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

     ซึ่งควรอัดฉีดงบประมาณในส่วนนี้มากที่สุด และยังจำเป็นต้องมีมาตรการรัฐกระตุ้น

      รวมถึงต้องสร้างความเข้มแข็งเสถียรภาพด้านอื่นๆเช่น ในแง่ของดุลบัญชีเดินสะพัด ควรกลับมาเป็นบวก จากรายได้ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

      ขณะที่รักษาสภาพคล่องในประเทศอยู่ในจุดที่เหมาะสม ภาคสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ ดูแลเงินกองทุนให้แข็งแกร่ง ดูลูกค้าไม่ให้เกิดการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

      โดยมาตรการทั้ง 3 ด้าน จะทำให้ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆในภูมิภาค และ จะเป็นโมเมนตัมให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไปอีก 1 ปีข้างหน้า คาดการณ์ จีดีพี ปี2566 ขยายตัวได้ 3-4%  

      ส่วนในปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3%ต้นๆ จากเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยงต่างชาติมีโอกาสแตะ 10 ล้านคน ในปีนี้ และภารการเกษตรยังขยายตัวดี แม้ภาคส่งออกอาจจะแผ่วลงบ้าง

      ทางด้านทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย อย่างไรก็ตามคาดว่าธปท.ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นดอกเบี้ยกลับไปที่ 1.25% ก่อนในสิ้นปีนี้ และในเดือนมี.ค.2566 ขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 1.5%

       และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้จนถึงกลางปีหน้า รอให้เห็นภาพเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจน หลายประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจถอดถอยหรือไม่ และประเทศไหนจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยแค่ไหน ก่อนที่จะกลับไปขี้นดอกเบี้ยแตะ 2% ตามเดิม หากเศรษฐกิจโลกไม่แย่กว่าที่คาด แต่หากแย่กว่าที่คาดอาจจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.25-1.5% ก่อน