รู้ก่อน! ลดทัน เปิด 6 วิธีทำให้ธุรกิจ SMEs เสียภาษีน้อยลง
ในยุคที่ไอเดียทำธุรกิจมีอยู่รอบตัว หลายคนเริ่มต้นวางแผนธุรกิจของตัวเอง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใด บริหารจัดการอยู่ในรูปแบบไหน ก็ต้อง "เสียภาษี" ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ทราบไหมว่า ถ้าเราวางแผนดีๆ ก็สามารถลดเม็ดเงินภาษีธุรกิจ SMEs ที่ต้องจ่ายได้จากช่องทางต่างๆ
ทุกวันนี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่คุ้นเคยในชื่อธุรกิจ SMEs มีผุดขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งที่บริหารจัดการเองในนาม "บุคคลธรรมดา" รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่จดทะเบียนบริษัทหรือเป็น "นิติบุคคล" ก็มีอยู่ไม่น้อย
และไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใด บริหารจัดการอยู่ในรูปแบบไหน ย่อมหนีไม่พ้นหน้าที่ผู้เสียภาษีด้วยกันทั้งสิ้น โดยในแต่ละปีมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องเสียภาษีไปเป็นจำนวนมากอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น มาวางแผนลดภาษีธุรกิจ SMEs ได้จากช่องทางต่างๆ ดังนี้
- แบบไหนเรียกธุรกิจ SMEs
SMEs เป็นตัวย่อภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Small and Medium Enterprises หมายถึง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด
เป็นธุรกิจที่มีความเป็นอิสระ มีต้นทุนในการลงทุนต่ำ และมีพนักงานจำนวนน้อย ซึ่งประกอบกิจการหลัก 3 ประเภท คือ
1.กิจการการผลิต เป็นกิจการที่นำวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยครอบคลุมการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรม กิจการเหมือนแร่ และการผลิตที่นำวัตถุดิบที่มีอยู่เดิมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
2.กิจการการค้า เป็นกิจการที่ไม่ได้มีการผลิตสินค้าเอง แต่เป็นการซื้อสินค้าสำเร็จรูปมาเพื่อจำหน่าย จะเน้นในการจำหน่ายเพียงอย่างเดียว หรือที่นิยมเรียกว่ากิจการซื้อมาขายไป ประกอบด้วยกิจการค้าส่งและกิจการค้าปลีก เช่น กิจการขายเครื่องออกกำลังกาย กิจการขายสินค้าสำเร็จรูป
3.กิจการบริการ เป็นกิจการที่ให้บริการหรือขายบริการเป็นหลัก ไม่ได้จำหน่ายสินค้า เช่น กิจการโรงแรง สำนักงานรับทำบัญชี ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร และกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการทั้งหมด
- ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs
แม้ว่าธุรกิจ SMEs จะเป็นธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่โต แต่ยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งภาระทางภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลักคือ
1.ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น "บุคคลธรรมดา" มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดอยู่ประเภทที่ 8 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) โดยวิธีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับธุรกิจ SMEs ให้นำรายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปี หักลบด้วยค่าใช้จ่าย เลือกแบบเหมาหรือหักตามจริงได้ (หากหักแบบตามจริงจะต้องเก็บเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายไว้ให้ครบทุกใบ) และหักค่าลดหย่อน จากนั้นนำไปคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราภาษีก้าวหน้า
2.ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น "นิติบุคคล" มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ ซึ่งกิจการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษี และสามารถหักค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้สูงสุด 2 เท่า
- แนวทางลดภาษีธุรกิจ SMEs
1.ยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องกันตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังปี 2555 เป็นต้นมา ได้รับยกเว้นภาษีหากกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท หากเกินจะได้ลดภาษี ดังนี้
- กำไรสุทธิ 1 - 300,000 บาท ยกเว้นภาษี
- กำไรสุทธิ 300,001 – 3,000,000 บาท อัตราภาษี ร้อยละ 15
- กำไรสุทธิ 3,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี ร้อยละ 20
2.จ้างงานผู้สูงอายุ หักรายได้ 2 เท่า
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างงานผู้สูงอายุ สามารถนำมาหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่าของค่าจ้างที่จ่ายแก่พนักงาน ลูกจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 15,000 บาท (จ่าย 15,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 30,000 บาท) โดยมีเงื่อนไขคือ
- ผู้สูงอายุที่จ้าง ต้องมีจำนวนไม่เกิน 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
- เมื่อนำค่าจ้างผู้สูงอายุทั้งหมดมารวมกัน ต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของรายจ่ายค่าจ้างทั้งหมดของกิจการนั้นๆ
- ต้องเป็นผู้สูงอายุที่เป็นลูกจ้างของบริษัทอยู่ก่อนแล้ว หรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
- ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จ้าง หรือบริษัทในเครือ
- ค่าจ้างผู้สูงอายุเฉพาะรายที่จ่ายไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
- ถ้าผู้สูงอายุทำงานหลายแห่ง ให้บริษัทที่รับทำงานก่อนได้รับสิทธิ
3.หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน อัตราพิเศษ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีสินทรัพย์ถาวร (อาคารและอุปกรณ์) ไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน
- สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้มา ส่วนที่เหลือทยอยหักภายใน 3 รอบ ระยะเวลาบัญชี (ร้อยละ 33.33 ต่อปี) (โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นลิขสิทธิ์ กรณีไม่จำกัดอายุการใช้ จำนวนปีที่หักค่าสึกหรอต้องไม่น้อยกว่า 10 รอบระยะเวลาบัญชี)
- สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงานได้ร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้มา ส่วนที่เหลือทยอยหักภายใน 20 รอบระยะเวลาบัญชี (ร้อยละ 5 ต่อปี)
- สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรได้ร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้มา ส่วนที่เหลือทยอยหักภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชี (ร้อยละ 20 ต่อปี)
4.ซื้อ จ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565
เป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ หรือค่าจ้างทำ หรือค่าบริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากผู้ขาย ผู้รับจ้างทำ หรือผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)
5.รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หักรายจ่ายได้ 2 เท่า
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ 2 เท่า โดยมีเงื่อนไขคือ
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องการใช้สิทธิ์ ต้องยื่นโครงการฯต่อ สวทช. เพื่อตรวจสอบและรับรอง
- เป็นรายจ่ายที่จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับการประกาศกำหนด
6.ฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ 2 เท่า โดยมีเงื่อนไขดังนี้
6.1 กรณีส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษา หรือฝึกอบรม
- ค่าใช้จ่ายการศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน หรือค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม เช่น ค่าลงทะเบียน รวมถึงค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมเรียกเก็บจากบริษัท
- มีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรม
- กำหนดเงื่อนไขให้กลับเข้าทำงานหลังศึกษา/ฝึกอบรมเสร็จ
- จัดทำรายงานค่าใช้จ่ายดังกล่าว
6.2 กรณีฝึกอบรมให้ลูกจ้างของตนเอง
- เป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้าง ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน และค่าใช้จ่ายเป็นไปตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
- ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการ
- ต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างเพื่อเป็นหลักฐานการทำงาน
- กำหนดเงื่อนไขให้กลับเข้าทำงาน
- อุปกรณ์ที่จะใช้ในการฝึกอบรม ต้องกำหนดลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติเพื่อไม่ให้ปะปนกับที่ใช้ในการประกอบกิจการตามปกติของบริษัท
และทั้งหมดนี้เป็นเพียงช่องทางลดหย่อนภาษีของธุรกิจ SMEs บางส่วนเท่านั้น เพื่อเป็นแนวทางวางแผนภาษีให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้เลือกช่องทางลดหย่อนภาษีที่เหมาะกับธุรกิจของตนเองที่สุด
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่