นอนแบงก์ เข้มปล่อยกู้ ‘หนี้เสีย’พุ่งปรี๊ด25%
“นอนแบงก์” เข้มปล่อยกู้ เหตุ หนี้เสียพุ่ง “ทรีมันนี่” รับแตะ 25% หลังผู้กู้ผิดนัดชำระพุ่ง-เร่งเจรจาลูกหนี้ลดหนี้เสียต่ำ 20% ในปลายปีนี้ “เอ็มทีซี” เอ็นพีแอล จ่อแตะ3%ปลายปีนี้ หลังน้ำท่วมเกษตรกรกระทบ “ไลน์บีเค” ห่วงหนี้เสียในระบบเพิ่มแตะ 5%
นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ ประธานบริหาร บริษัท ทรีมันนี่ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลในระบบที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังหมดมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ส่งผลให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น
โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันหนี้เสียของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% จากสินเชื่อคงค้างที่ระดับ 700 ล้านบาท
โดยหนี้เสียดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก ปลายปีก่อนที่อยู่เพียง 17% และต้นปี ที่ 20% สะท้อนความสามารถผู้กู้ที่ลดลง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของบริษัทต้องเข้มงวดขึ้น
โดย บริษัทอยู่ในช่วงพยายามเจรจาลูกหนี้ให้เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดหนี้เสียในระบบให้ลดลงโดยเร็ว ดังนั้นคาดว่าสิ้นปี หนี้เสียจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 20%
ส่วนการปล่อยสินเชื่อปัจจุบัน ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท คาดว่าทั้งปียอดสินเชื่อใหม่ทั้งปีจะอยู่ที่ 800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หากเทียบกับปีก่อนที่ยอดปล่อยสินเชื่ออยู่เพียง 470 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทเดินหน้ารักษามาตรฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อเนื่อง เพื่อเดินหน้าเข้าสู่การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ที่ตั้งเป้ายื่นไฟลิ่ง เพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอต่อก.ล.ต. ช่วงพ.ค.ปีหน้า
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อในปัจจุบันถือว่าเผชิญความยากลำบาก จากปัญหาหนี้เสียในระบบที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้กู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ผ่านมา ดังนั้นคาดว่าสิ้นปีหนี้เสียของบริษัทน่าจะแตะระดับ 3% จากปัจจุบันที่ 1.9%
ส่วนการปล่อยกู้ของบริษัท ยังเติบโตต่อเนื่องระดับ 30% ในทุกไตรมาส ดังนั้นคาดว่าทั้งปี ยอดปล่อยสินเชื่อน่าจะเป็นไปตามเป้าที่ 30% หรือ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สิ้นปีนี้พอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ 9 หมื่นล้านบาท
นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด กล่าวว่า หากดูหนี้เสียของ LINE BK พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับทิศทางตลาด เนื่องจากรายได้ของผู้กู้ยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติ
ทำให้มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ ส่งผลหนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันใกล้แตะระดับ 5%
ดังนั้นในด้านปล่อยสินเชื่อ บริษัทจึงเข้มงวดมากขึ้น และต้องรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้น