จีนจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกได้ไหมในรอบนี้
ดูเหมือนว่าจะแผ่วลงเรื่อยๆ สำหรับแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป อันเป็นผลมาจากเรื่องของราคาพลังงานและนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่าแรงกดดันต่างๆ ก็ยังไม่ลดลงเลย
แม้จะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 แล้ว การเร่งขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ แม้จะผ่านมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง แต่แรงกดดันเงินเฟ้อก็ยังคงมีอยู่ และยังไม่สามารถวางใจได้ว่าจะผ่านช่วงสูงสุดไปแล้วดังที่นักวิเคราะห์เคยคาดกันไว้ในช่วงก่อนหน้า ล่าสุดนักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะขยายตัวได้เพียง 2.9% ในปีนี้ (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565) เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 6.1% นอกจากนั้นหากไม่นับปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจโลกอาจจะขยายตัวได้ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 - 2552 เป็นต้นมา
เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะมาจากจุดที่ขยายตัวได้อย่างร้อนแรงในปีที่แล้ว และหลายๆ ภาคส่วนของเศรษฐกิจโดยเฉพาะตลาดแรงงานยังขยายตัวได้ดี แต่ก็ดูเหมือนว่าต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จะเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจจะปรับตัวในลักษณะ Hard Landingได้
โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้เพียง 1.6%(ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มองไว้เพียง 0.2% เท่านั้น) และยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องไปในปีหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 0.9% ท่ามกลางโอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อนโยบายการเงินยังคงเร่งตัวขึ้นในอัตราที่รวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หากมองย้อนไปในช่วงวิกฤติซับไพร์มในช่วงปี 2551 -2552 ซึ่งต้นตอมาจากปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตราสารทางการเงินบางประเภทในสหรัฐฯ แต่ก็ส่งผลกระทบไปในวงกว้างและทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวตามลงไปด้วย แต่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลาดังกล่าวมีส่วนอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยจีนก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะของผู้ผลิตสินค้าจากการอาศัยข้อได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และค่อยๆ เปลี่ยนผ่านมาผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนและอาศัยเทคโนโลนีมากขึ้นในช่วงหลัง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ในช่วง 9-10% หลายปีต่อเนื่องและมีส่วนต่อการกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดโลกและทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้เร็ว ทำให้จีนมีบทบาทมากขึ้นและมีน้ำหนักราวๆ 15% ของเศรษฐกิจโลกเทียบกับในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 ที่น้ำหนักเพียงครึ่งเดียวหรือราว 7% เท่านั้น (ข้อมูลจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ)
อย่างไรก็ตาม สำหรับวัฏจักรรอบนี้ เศรษฐกิจจีนเองก็ดูเหมือนจะทุลักทุเลไม่น้อย จากเรื่องของนโยบาย Zero-COVID และปัญหาภาคในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการขาดสภาพคล่องในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และอุปสงค์ที่หดตัวลงจากเรื่องของความไม่แน่นอนและนโยบายที่เข้มงวดต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งแม้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส2
แต่การฟื้นตัวยังมีความเปราะบางเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าปีนี้จะเติบโตเพียง 3.4% เทียบกับเป้าของรัฐบาลที่ 5.0% โดยแม้ตัวเลขจะดูสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ด้วยศักยภาพของเศรษฐกิจจีน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับนี้อาจจะต้องมองย้อนไปถึงช่วงยุคปี 1970 เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง และเพิ่มการลงทุนภาครัฐฯ
แต่ก็ยังดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอที่จะฟื้นความเชื่อมั่นและช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ โดยอาจจะต้องรอดูหลังการประชุมประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่จะมีขึ้นในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งหากไม่มีนโยบายหรือท่าทีที่ชัดเจนต่อทั้งปัญหาในภาพอสังหาริมทรัพย์และเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจทรุดลงไปอีก
จุดสำคัญของเศรษฐกิจจีนและอาจจะรวมถึงเศรษฐกิจโลกด้วย อาจจะอยู่ที่นโยบายของภาครัฐฯ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ว่ากลุ่มผู้พัฒนาจะสามารถส่งมอบบ้านที่ขายล่วงหน้า (Pre-sale) ไปก่อนได้จริง และอาจจะเริ่มมีอุปสงค์กลับเข้ามาบ้าง รวมถึงนโยบายที่ช่วยสนับสนุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสริมสภาพคล่องและมาตรการกระตุ้นต่างๆ ในส่วนของนโยบาย Zero-COVID ที่ทำให้ยังมีการปิดเมืองในหลายๆ ที่ ส่งผลกระทบต่อทั้งการอุปโภคบริโภคและภาคการผลิต ที่น่าจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะผ่อนคลายได้เร็วแค่ไหนด้วย
ในปัจจุบันข้อมูลการประมาณการ GDP ของจีน คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี2566 ทำให้ในภาพรวม มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกในรอบนี้อาจจะไม่มีจีนมาช่วยหนุนเหมือนเมื่อรอบก่อน และมีโอกาสไม่น้อยที่เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวลงได้อีก เนื่องจากดอกเบี้ยที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกซักระยะหนึ่งซึ่งรอบนี้น่าจะต่างจากปี2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างแน่นอนครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด