ธปท. เกาะติด “เงินเฟ้อพื้นฐาน” ใกล้ชิดหัวใจหลัก เปลี่ยนทิศนโยบายการเงิน
ธปท.ย้ำดูแลค่าเงินบาทใกล้ชิด พร้อมเข้าดูแลหากผันผวนสูง - เร็วเกินไป จับตาเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้ชิด ก่อนเปลี่ยนทิศนโยบายการเงิน จับตา “ทีทีบี” ประชุมบอร์ดวันนี้ ด้านแบงก์รัฐ “ออมสิน - ธอส.” ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ตรึงดอกเบี้ยกู้ “พาณิชย์” เผยค่าเงิน 38 บาท ดันเงินเฟ้อ 0.31%
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่เงินบาทอ่อนค่า สิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น คือ ความผันผวนที่สูง และเร็วเกินไปอย่างผิดปกติ
ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าไปดูแลหากเกิดความผันผวนผิดปกติ เพราะ ธปท.ไม่อยากให้มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ทั้งนี้แต่การดูแลเงินบาท ก็ไม่ได้ฝืนทิศทางตลาด และคงฝืนตลาดไม่ได้ และไม่เหมาะสม อีกทั้งเราไม่ใช้นโยบายในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้นสิ่งที่ ธปท.ทำได้ คือ การดูแลเพื่อให้เกิดความผันผวนที่สูงผิดปกติ จนกระทบต่อผู้ส่งออก และนำเข้า ให้ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) จากค่าเงินบาทได้
โดยการ ธปท.ไม่ได้มีเป้าว่า อยากเห็นทิศทางค่าเงินบาท ไปอยู่ที่ระดับเท่าไร ถึงเป็นระดับที่เหมาะสม เพราะการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ เป็นการเคลื่อนไหวตามค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก ซึ่งทำอะไรไม่ได้ และไม่ควรทำ
เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง
“สมมติว่าเราต้องเกาะไปกับดอลลาร์ แปลว่าเราต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเหมือนสหรัฐ เหมือนฮ่องกง ที่การทำนโยบายการเงินเกาะติดไปกับค่าเงินดอลลาร์ แปลว่าเราต้องขึ้นดอกเบี้ยไปทีละ 0.75% แล้วหากเราทำอย่างนั้น จะเหมาะกับบริบทเศรษฐกิจไทยหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ร้อนแรงเหมือนสหรัฐ การขึ้นดอกเบี้ยเร็วเหมือนสหรัฐ จึงไม่เหมาะกับบริบทเราแน่นอน”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาท หลักๆ มาจากการแข็งค่าดอลลาร์ ที่แข็งค่าขึ้นเป็นหลัก โดยแข็งค่าขึ้น 18% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า 12% ถือว่าอ่อนค่าระดับกลาง หากเทียบกับประเทศอื่นๆ
. ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาท เชื่อว่าไม่มีผลทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากนัก โดยพบว่าเงินบาทอ่อนค่าทุก 1% ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.06% ซึ่งภาพแตกต่างกับบางประเทศ ที่เงินอ่อนค่า เงินเฟ้อมาทันที นอกจากนี้มองว่าเงินเฟ้อโดยรวมไม่ได้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ
ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่า และทุนสำรองที่ลดลงมาก เชื่อว่าจะไม่ซ้ำรอยปี 2540 เพราะวันนี้ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง และวันนี้ ภาพยังเป็นการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้าย
ด้านดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายคาดขาดดุลปีนี้ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเพียง 2.8% ของจีดีพี ต่างจากปี 2540 ที่ไทยขาดดุลถึง 8% ของจีดีพี ขณะที่ทุนสำรองของไทยมีถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้นไม่น่ากังวลต่อเสถียรภาพ
ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. มองว่าหากสถานการณ์เปลี่ยนถ้าจำเป็นต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยก็พร้อมหยุด แต่หากจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย มากกว่า 0.50% หรือมากกว่านั้น ก็พร้อมจะทำ หากตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์ โดยหัวใจหลักของการปรับนโยบายการเงิน หากสถานการณ์เปลี่ยน
ธปท.จับตาเงินเฟ้อใกล้ชิด
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สำหรับหัวใจหลัก ที่ ธปท.ดูเป็นพิเศษ คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน เพราะเป็นตัวสะท้อนของโอกาสของเครื่องยนต์เงินเฟ้อที่อาจติดได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเห็นอัตราเร่ง 4 เดือนติดก่อนหน้า ก่อนมาลดลงเดือนล่าสุด ดังนั้นตรงนี้ ธปท.จับตาดูพิเศษ ที่เป็นหัวใจสำคัญ
ส่วนภาพเงินเฟ้อโดยรวม ธปท.คาดว่า เงินเฟ้อทั่วไป ปีนี้จะอยู่ที่ 6.3% และปีหน้าจะต่ำกว่า 3% และคาดพีคในไตรมาส 3 ปีนี้ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะพีคไตรมาส 4 ปีนี้ ดังนั้น หากไม่ได้เป็นไปตามที่คาด จะเป็นปัจจัยหลักที่ต้องมาดูว่าต้องนโยบายการเงินหรือไม่
“ตัวที่ห่วงที่สุดคือ เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ทำให้การส่งผ่านเกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ดูคือ การขยายตัวของเงินเฟ้อ การขยายตัวเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นมากต่อเนื่องหรือไม่”
นอกจากนี้ หากสถานการณ์เปลี่ยน จำเป็นต้องประชุมรอบพิเศษ ก็เกิดขึ้นได้ เหมือนที่บอกตลอด เนื่องจากเรามีการลดการประชุมของ กนง.ลงเหลือ 6 ครั้งต่อปี แต่หากเกิดสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ก็สามารถจัดประชุมนอกรอบได้ ไม่ได้หมายความว่าเทคเอกชั่นไม่ได้ ธปท.พร้อมเทคเอกชั่น
ส่วนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ธปท.ไม่ได้มีโจทย์ว่า ท้ายที่สุดดอกเบี้ยต้องไปอยู่ที่อัตราเท่าใด แต่โจทย์ของ ธปท.คือ ทำตามเป้าหมายของเราได้คือ ให้เงินเฟ้อกลับเข้ามาอยู่ในกรอบของ ธปท.ได้
สำหรับ การส่งผ่านดอกเบี้ยไปสู่แบงก์ เราต้องการดำเนิน นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นต้องการเห็นการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย เพราะหากไม่สามารถส่งผ่านได้ ก็ไม่เกิด normalization ดังนั้นการส่งผ่านก็เป็นเรื่องปกติ แต่อยากเห็นค่อยเป็นค่อยไป
ออมสินขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า วันนี้ธนาคารออมสิน จะประชุมคณะกรรมการธนาคาร(บอร์ด) เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลัง กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1%
โดยเบื้องต้น ธนาคารคาดว่า จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบันต่อไป เชื่อช่วยเหลือผู้กู้ ช่วยเหลือประชาชน
ส่วนจะมีการตรึงดอกเบี้ยยาวต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
ทีทีบีจ่อขยับดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด(มหาชน) หรือ TTB กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.65) ธนาคารจะมีการประชุมคณะกรรมการธนาคาร เพื่อพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งฝั่งเงินกู้ และเงินฝากว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 1%
ทั้งนี้ หากธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 0.20% จะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MRR , MLR และMOR จะต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.40% เนื่องจากฐานลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ค่อนข้างมีจำนวนมาก ทำให้ต้องบริหารจัดการต้นทุน ที่ต้องให้เกิดสมดุลระหว่างเงินฝากและเงินกู้
อย่างไรก็ตามหากปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ซึ่งอาจจำเป็นต้องปรับขึ้น สามารถทำได้ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มที่ฝากเงินฝากประจำ เป็นกลุ่มที่รอรายได้จากดอกเบี้ย ถ้าเงินเฟ้อขึ้น แต่ดอกเบี้ยเงินฝากกลุ่มนี้ไม่ขึ้นก็จะลำบาก
สำหรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารทหารไทยธนชาต ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 0.125% ต่อปี , เงินฝากประจำ 3 เดือน 0.4% , เงินฝากประจำ 6 เดือน 0.5% , เงินฝากประจำ 12 เดือน 0.6% และเงินฝากประจำ 24 เดือน 0.6% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ MOR อยู่ที่ 6.15% , MLR อยู่ที่ 6.125% และ MRR 6.28%
ธอส.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยฝาก
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. เตรียมประชุมด่วนเพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทต่างๆ ของธนาคาร
อาทิ ประเภทออมทรัพย์ และเงินฝากประจำบางประเภท เพื่อสนับสนุนการออมภาคประชาชน และรองรับการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในครั้งนี้จะให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุดต่อไป ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ธอส. ยืนยันว่าจะยังคงไว้ระดับเดิมถึงสิ้นปี 2565 เป็นอย่างน้อย
ค่าเงิน 38 บาทดันเงินเฟ้อ 0.31%
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและกลุ่มอาหาร
รวมทั้งจากผลจากความขัดแย้ง และมาตรการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและอาหารโลกสูงขึ้นแล้วส่งผ่านมายังต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ในประเทศ ทำให้ราคาขายปลีกสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุดในแล้วในเดือนส.ค.ที่สูงขึ้นถึง 7.86%
“อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงที่เหลือ เนื่องจากราคาสินค้าทยอยเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี และทรงตัวแล้ว ประกอบกับมาตรการของกรมการค้าภายในที่ขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้า ตลอดจนมาตรการของรัฐบาลในการดูแลค่าครองชีพ”
ส่วนค่าเงินที่อ่อนค่าลงทำให้ราคาสินค้าของผู้ประกอบการสูงขึ้นจากการนำเข้าสินค้า เพราะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมต้นน้ำน้อยแต่มีอุตสาหกรรมปลายน้ำมาก เช่น สินค้าเกษตร ไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ซึ่งจากการศึกษาของ สนค.ใน 3 กรณี คือ
กรณีที่ 1 อัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย.- ธ.ค. อยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย 0.25% กรณีที่ 2 อัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย.- ธ.ค. อยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย 0.28% และกรณีที่ 3 อัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย.- ธ.ค. อยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย คือ 0.31%
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่เป็นจริง เพราะเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยล่าสุด ธปท. ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.04 - 0.12% และถ้าทยอยปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25-1% ทาง สนค.วิเคราะห์ ว่า การขึ้นดอกเบี้ย 0.25 ครั้งที่ 1 จะส่งผลต่อเงินเฟ้อ 0.08-0.24% ครั้งที่ 2 กระทบเงินเฟ้อ 0.12-0.36% ครั้งที่ 3 กระทบเงินเฟ้อ 0.16-0.48% และครั้งที่ 4 กระทบต่อเงินเฟ้อ 0.20-0.80%
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์