BANKING SECTOR ปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป
กนง. มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps เป็น 1.00% เราคาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย 25 bps อีกหนึ่งครั้งในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยสิ้นปีอยู่ที่ 1.25% อย่างไรก็ตาม เรามองว่า NIM จะขยับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
โดยธนาคารใหญ่ (KTB, KBANK, SCB และ BBL) จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เมื่อพิจารณาจากพอร์ตสินเชื่อและโครงสร้างเงินฝาก
ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps เป็น 1.00%
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps จาก 0.75% เป็น 1.00% โดยมีผลทันที ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงจึงเห็นควรปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย ธปท. คาดว่า GDP ของไทยในปี FY22-23 จะขยายตัว 3.3% และ 3.8% ตามลำดับ (จากประมาณการเดิมที่ 3.3% และ 4.2% ในเดือนมิถุนายน 2022) ในขณะเดียวกัน ธปท. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในระดับสูงที่ 6.3% ในปี 2022 ก่อนที่ละลดลงมาอยู่ที่ 2.6% ในปี 2023 (จากประมาณการเดิมที่ 6.2% และ 2.5% ในเดือนมิถุนายน 2022) ทั้งนี้ กนง. มองควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระดับราคา
ดอกเบี้ยน่าจะทยอยขึ้นมากกว่าที่จะขึ้นแบบพรวดพราด
กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 25bps ตามที่เราคาดไว้ ในขณะที่ตลาดเหมือนอยากเห็นเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแรงหลังผลการประชุม กนง. สำหรับในระยะต่อไป เราคาดว่า ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps เป็น 1.25% ในการประชุมนัดสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 โดยเรามองว่า ธปท. ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50bps เพราะเราประเมินมีโอกาสน้อยที่จะเห็นแรงกดดันระลอกสองจากเงินเฟ้อ หรือ การขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะเรายังเห็นราคาเชื้อเพลิงพลังงานมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจชี้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการไปแล้วก่อนหน้านี้ และไม่คาดว่าจะขึ้นอีกในเร็วๆ นี้
ธนาคารพาณิชย์เริ่มขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เราคาดไว้
เราเคยห่วงว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้จะอยู่ไม่นาน และจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังคงชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และทำให้เรามองว่า ธปท. น่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในปี 2023 เราคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ NIM ค่อย ๆ ขยับสูงขึ้น โดย KTB, KBANK, SCB และ BBL จะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากพอร์ตสินเชื่อ และโครงสร้างเงินฝาก ทั้งนี้ เนื่องจาก BBL ประกาศขึ้นดอกเบี้ย M-rates เร็วกว่าที่เราคาดไว้ เราประเมินธนาคารใหญ่อื่น ๆ มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยตามภายในสัปดาห์หน้า เราปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารจาก NEUTRAL เป็น OVERWEIGHT โดยเลือก SCB และ KTB เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม เนื่องจากราคาหุ้นมี discount อย่างมาก (SCB) และโมเมนตัมกำไรมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น (KTB)