คปภ. เร่งหนุนทำประกันภัย พ.ร.บ.ยั่งยืน นำร่องพื้นที่อีอีซีในเมืองระยอง
คปภ. ประเดิมเปิดโครงการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่องที่จังหวัดระยองเพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน เร่งเดินสายลงพื้นที่ปลุกพลังนักบิดมอเตอร์ไซด์ทำประกันภัย พ.ร.บ.
ตามที่ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่องเพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน ไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่องที่จังหวัดระยองเพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืนในกิจกรรม “คปภ. ปลุกพลังนักบิด เปิดโลกใหม่ให้คุ้มครองด้วยประกันภัย พ.ร.บ.” โดยมี นางสาวประภาศรี พิษณุพงควิชชา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดระยอง กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายฉกาจ พัฒนศรี ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดระยอง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ ศูนย์การค้าแพชชั่น ช้อปปิ้งแดสติเนชั่น จังหวัดระยอง
นายสุทธิพล คปภ. กล่าวว่า ภายหลังจากการจัดกิจกรรมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ ที่กรุงเทพมหานครแล้ว สำนักงาน คปภ. ได้เดินหน้าจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับประชาชนผู้ใช้รถสร้างการเข้าถึงประกันภัย พ.ร.บ. และการมีส่วนร่วมในการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ซึ่งการจัดกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้
สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นว่า จังหวัดระยอง เป็นเมืองที่สำคัญทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว มีประชากรมากกว่า 750,000 คน และเป็นจังหวัดที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และมีโรงงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีการใช้ยานพาหนะประเภทรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก และจากข้อมูลการจดทะเบียนรถของจังหวัดระยอง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 พบว่ามีรถจักรยานยนต์ ที่จดทะเบียนสะสมจำนวน 448,180 คัน ซึ่งเป็นรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. เพียง 289,064 คัน หรือประมาณร้อยละ 64.50 ของรถที่จดทะเบียนทั้งหมดเท่านั้น
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงเห็นว่าจังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมเป็นพื้นที่นำร่องในการรณรงค์เชิงรุกตามโครงการนี้ โดยในปีนี้เน้นไปที่การรวมพลังกลุ่มเป้าหมายในนิคมอุตสาหกรรม และชุมชนโดยรอบเนื่องจากเป็นผู้ใช้รถจักรยายนต์เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำประกันภัย พ.ร.บ. และส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย พ.ร.บ. ผ่านการจัดกิจกรรม Roadshow ผสมผสานกับกิจกรรมรณรงค์ (Campaign) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนำร่อง 3 พื้นที่ โดยจังหวัดระยอง ถือเป็นการประเดิมแห่งแรกในการจัดกิจกรรม
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. มุ่งเน้นให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงการทำประกันภัย พ.ร.บ และให้ทราบถึงการขับเคลื่อนด้านประกันภัย พ.ร.บ. ในหลากหลายมิติของสำนักงาน คปภ. ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัย พ.ร.บ. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 โดยปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากเดิม 300,000 บาท โดยจะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท หรือกรณีได้รับบาดเจ็บต่อร่างกาย จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 80,000 บาท
รวมทั้งได้มีการขยายช่องทางการจำหน่ายประกันภัย พ.ร.บ. ให้ประชาชนสามารถซื้อหรือต่อประกันภัย พ.ร.บ. ที่สะดวกยิ่งขึ้น อาทิ ช่องทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เคาน์เตอร์เซอร์วิสใน 7-11 นอกเหนือจากการซื้อผ่านตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัย และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ ที่มีระยะเวลาความคุ้มครองระยะยาว 3 – 5 ปี เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และเป็นการเพิ่มทางเลือก รวมถึงให้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย กรณีซื้อประกันภัย พ.ร.บ. ระยะยาวเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีการทำประกันภัย พ.ร.บ. ระยะยาวสำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นประเภทรถที่มีการใช้งานเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ตลอดจนช่วยลดจำนวนการขาดต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ.
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการขนส่งทางบก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ก่อนชำระภาษีรถยนต์ประจำปี เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการต่อภาษีรถมากขึ้น
ในส่วนของ การดูแลผู้ประสบภัยจากรถ นั้น สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยที่ปฏิบัติงานภายใต้สำนักงาน คปภ. ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้ให้การคุ้มครองดูแลผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาผ่านการจ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ในกรณีรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. หรือในกรณีที่มีประกันภัย พ.ร.บ. แต่ไม่อาจเรียกร้องสิทธิจากที่ใดได้ สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จะเข้ามาช่วยเหลือดูแล และลดภาระทางด้านการเงินแก่ผู้ประสบภัยจากรถ โดยวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น แบ่งออกเป็น กรณีบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท หรือกรณีเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะจะได้รับเงินชดเชย จำนวน 35,000 บาท และหากกรณีได้รับบาดเจ็บและต่อมาสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยรวมกันสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยจากรถแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งของกองทุนฯ ที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การไล่เบี้ยเรียกคืนค่าเสียหายเบื้องต้นพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 20 จากเจ้าของรถที่ฝ่าฝืนที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. นอกจากนี้ เจ้าของรถที่ฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีความผิดตามกฎหมาย โดยมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และนอกเหนือจากเจ้าของรถแล้ว หากผู้ใดนำรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. ไปใช้ จะมีโทษปรับสูงสุดอีก 10,000 บาทด้วย และในกรณีที่เป็นเจ้าของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. และนำรถคันดังกล่าวไปใช้จะมีความผิด 2 กระทง คือ มีโทษปรับสูงสุดถึง 20,000 บาท
นายสุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ต่อไปที่จะมีการจัดกิจกรรม คือ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดจัดงานในวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2565 และนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ในวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565
“หากรถทุกประเภทได้จัดให้มีการทำประกันภัย พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับความคุ้มครองที่สูงกว่าผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. และยังเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ มาทำประกันภัย พ.ร.บ. และหมั่นตรวจสอบประกันภัย พ.ร.บ. ของท่านไม่ให้ขาดอายุ ซึ่งมีช่องทางการหาซื้อที่สะดวก และค่าเบี้ยประกันภัยไม่แพง ทั้งนี้ หากต้องการข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย.