ต้องระวังไม่ให้เกิดวิกฤติค่าเงินสกุลหลัก | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แล้วผมร่วมเป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนา "การเงินสีเขียว(Green Finance) กับประเทศในอาเซียน" จัดโดยสถาบันวิจัยการเงินสีเขียวไหหลำ (Hainan Green Finance Research Institute) ประเทศจีน พูดถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน
ผู้ร่วมสัมมนาแสดงความห่วงใยต่อความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติค่าเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก และผลที่จะมีต่อภูมิภาคเอเซีย ซึ่งเป็นประเด็นสําคัญ วันนี้จึงจะเขียนเรื่องนี้เพื่อแชร์ความเห็นของผมให้ผู้อ่านทราบ
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเพื่อแก้เงินเฟ้อ กําลังสร้างปัญหาแก่เศรษฐกิจทั่วโลกทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่
ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับเงินสกุลหลักหกสกุลปรับสูงขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี เงินยูโรเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ ทะลุระดับจิตวิทยาหนึ่งต่อหนึ่ง คือ หนึ่งดอลลาร์แลกได้หนึ่งยูโร
เงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่ากว่า 20 เปอร์เซ็นต์และกําลังเข้าใกล้ระดับจิตวิทยาหนึ่งต่อหนึ่งเช่นกันระหว่างเงินปอนด์กับดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐก็อ่อนค่าลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ทะลุระดับจิตวิทยา 145 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์
จนธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องเข้าแทรกแซง ขณะที่เงินหยวนของจีนในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศนอกประเทศอ่อนค่าลง 20 เปอร์เซนต์จนธนาคารกลางจีนต้องออกมาปรามเรื่องการเก็งกำไรค่าเงิน
สำหรับประเทศในอาเซียน ค่าเงินก็อ่อนลงทั่วหน้าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทอยู่ในกลุ่มที่อ่อนค่ามาก คืออ่อนค่ากว่า 12 เปอร์เซ็นต์ปีนี้ ทะลุ 38 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐอาทิตย์ที่แล้ว หลัง กนง. ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ เป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ16ปี
ผลกระทบหลักต่อเศรษฐกิจจากการอ่อนค่าของเงินของประเทศคือ อํานาจซื้อของรายได้และความมั่งคั่งที่ประเทศมีลดลง ประเทศต้องใช้เงินหรือความมั่งคั่งที่ประเทศมีมากขึ้นในการซื้อสินค้าและบริการในจำนวนเท่าเดิม
เหมือนของแพงขึ้นแต่ประเทศมีรายได้เท่าเดิม พูดง่ายๆคือ ค่าเงินที่อ่อนทําให้ประเทศจนลง คืออำนาจซื้อที่มีลดลง ซึ่งสร้างปัญหามากสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย และ มีภาระที่ต้องใช้จ่ายมากถ้าค่าเงินอ่อนลงต่อเนื่อง ต้องประหยัดและต้องแบ่งปันการใช้จ่ายรวมถึงการชำระหนี้
ทําให้ประเทศมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ และเกิดปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
แต่นอกจากประเด็นอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ที่ปรับสูงขึ้น การอ่อนค่าของเงินในแต่ละประเทศเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะขึ้นอยู่กับอีกสองปัจจัย หนึ่ง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ สอง คุณภาพของนโยบายเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศใช้ในแก้ไขปัญหา
ในประเด็นแรก เศรษฐกิจยุโรปอ่อนเเอลงมากจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทําให้ราคาพลังงานและราคาอาหารในประเทศปรับสูงขึ้น กระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
กรณีอังกฤษก็เช่นกันเศรษฐกิจถูกกระทบด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูง เศรษฐกิจที่ชะลอและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลงมาก
เศรษฐกิจจีนก็ชะลอลงมากจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด19 และผลกระทบจากภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ญี่ปุ่นเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว
ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในสายตานักลงทุนดูมีความเข้มแข็งมากสุดขณะนี้ในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะตั้งรับผลกระทบ ทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของปัจจัยภูมิศาสตร์การเมือง
ยิ่งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐปรับสูงขึ้น ผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ดอลลาร์สหรัฐก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทําให้สินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนและปลอดภัยมากสุดเวลานี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง
สําหรับประเด็นนโยบายเศรษฐกิจ ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูง นักลงทุนอยากเห็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้ความสำคัญกับการแก้เงินเฟ้อเพื่อรักษาความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ด้วยมาตรการแก้ปัญหาที่ไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ในลักษณะนี้มาตรการลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษล่าสุด จึงไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดการเงิน เพราะในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงเกิดจากข้อจำกัดด้านอุปทาน เช่น ราคาพลังงาน แพง ทำให้การผลิตขยายตัวตามการใช้จ่ายที่เติบโตไม่ทัน
การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมาตรการการคลัง จะทําให้การใช้จ่ายยิ่งเติบโตและเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น เป็นมาตรการที่ไม่แก้ปัญหาแต่ซํ้าเติมให้ปัญหาเงินเฟ้อยิ่งรุนแรง
ที่สำคัญในกรณีอังกฤษ การลดภาษีทําให้รัฐบาลจะขาดรายได้และขาดดุลการคลังมากขึ้น ต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุล หนี้ภาครัฐก็จะเพิ่มขึ้น
ในภาวะที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ นักลงทุนจะเทขายสินทรัพย์ ทําให้ราคาสินทรัพย์ตก สภาพคล่องตึงตัว อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น และค่าเงินอ่อนลง สร้างความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ หรือวิกฤติเศรษฐกิจ
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษอาทิตย์ที่แล้ว ที่นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษระยะยาว ส่งผลให้ราคาพันธบัตรลดลงมาก เกิดการขาดทุนในกองทุนที่ลงทุนระยะยาวในพันธบัตรเหล่านี้
ผลคือกลไกตลาดผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับสูงขึ้นและค่าเงินปอนด์ดิ่ง ธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้าแทรกแซงกู้สถานการณ์ รับซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวไม่จำกัดจํานวน
เพื่อชะลอการลดลงของราคา ชะลอการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางที่การขาดความเชื่อมั่นในนโยบายอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นวิกฤติได้
ดังนั้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติค่าเงินสกุลหลัก จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล ปฏิเสธไม่ได้และประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะถ้านักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในนโยบายของภาครัฐ และถ้าวิกฤติเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบรุนแรงจากที่ตลาดการเงินโลกมีการเชื่อมต่อกันสูง
ที่สำคัญปัจจุบันประเทศหลักในเศรษฐกิจโลกไม่มีความพร้อมและภาวะผู้นำที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาเหมือนในอดีตครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ทำให้วิกฤติถ้าเกิดขึ้นจะแก้ยากมาก จึงควรหลีกเลี่ยง.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล