หาจุดกลับตัว "สินทรัพย์เสี่ยง" ต้องเข้าใจ "10 ดัชนีชี้นำ" เศรษฐกิจสหรัฐ

หาจุดกลับตัว "สินทรัพย์เสี่ยง" ต้องเข้าใจ "10 ดัชนีชี้นำ" เศรษฐกิจสหรัฐ

อ่านสัญญาณเตือนเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนต้องเข้าใจ "10 ดัชนีชี้นำ" ตรวจชีพจรเศรษฐกิจสหรัฐ เพื่อหาจุดกลับตัว "สินทรัพย์เสี่ยง" ก่อนจะสายเกินแก้!

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและรุนแรงในแบบที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เพื่อกำราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ทำให้ “นักลงทุน” ต่างมองภาพที่คล้ายกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession) ในเวลาอันใกล้นี้ 

แน่นอนว่า “สหรัฐ” ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก การที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ย่อมสร้างแรงเหวี่ยงต่อ “เศรษฐกิจ” และ “ตลาดทุน” ทั่วโลกได้…

คำถาม คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เศรษฐกิจสหรัฐใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

“กรุงเทพธุรกิจ” และผู้เขียนขอชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “10 ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่คนส่วนใหญ่ใช้ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจ ถ้าดัชนีเหล่านี้ตกต่ำลง นั่นหมายถึงสัญญาณเตือนเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ถึงตอนนั้น เฟด อาจเลือกที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือปรับลดดอกเบี้ยลงมาได้ และนั่นอาจเป็น “จุดกลับตัว” ของสินทรัพย์เสี่ยงในรอบใหม่ก็เป็นได้ 

10 ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจถดถอยและฟื้นตัว นอกจาก Inverted Yield Curve แล้ว สำหรับจุดกลับตัวเข้าลงทุนมีดังนี้

1. Consumer Price Index (CPI) ดัชนีราคาผู้บริโภค

ดัชนีนี้ใช้วัดเงินเฟ้อ และเป็นที่แพร่หลายในสำนักข่าวต่างๆ เนื่องจากเข้าใจง่าย โดยเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าบริการที่ถูกซื้อโดยผู้บริโภค หรือก็คือ เน้นไปที่ฝั่ง "ผู้บริโภค"

หากเป็นดัชนี Core CPI จะเป็นดัชนีข้อมูลสินค้าบริการที่ "ไม่รวม" อาหารและพลังงาน เนื่องจาก 2 สิ่งนี้ผันผวนสูงตามฤดูกาล ภัยพิบัติ และการเมืองโลก อันยากที่เฟดจะควบคุมได้

จุดอ่อนของ CPI นี้คือ มีความเหวี่ยงสูงกว่า เนื่องจากเป็นการวัดจาก "ฝั่งผู้บริโภค" ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามกระแส ผันผวนกว่า อย่างเช่นแต่เดิมเราชอบทานโดรายากิ เดือนถัดไปอาจหยุดทาน หรือเปลี่ยนไปทานอย่างอื่น ซื้อเสื้อผ้าแทน

ในขณะที่เทียบกับ "ฝั่งผู้ประกอบการ" จะเปลี่ยนสินค้าขายไปมานั้นยาก นั่นจึงทำให้เกิดอีกดัชนีหนึ่งขึ้นมา ก็คือ PCE Index 

หาจุดกลับตัว \"สินทรัพย์เสี่ยง\" ต้องเข้าใจ \"10 ดัชนีชี้นำ\" เศรษฐกิจสหรัฐ

2. Personal Consumption Expenditures Index ดัชนีรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล

ดัชนีนี้เราเรียกโดยสั้นว่า PCE Index  ใช้วัดเงินเฟ้อ ซึ่งแตกต่างจาก CPI Index ตรงที่ PCE จะเก็บข้อมูลจากยอดค้าปลีกภาคธุรกิจ หรือก็คือ เน้นไปที่ฝั่ง "ผู้ประกอบการ" ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการรัฐด้วย โดยจะเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมตั้งแต่ครัวเรือน ธุรกิจบริษัทไปจนถึงรัฐบาล

อีกทั้งในการเบิกค่ารักษาพยาบาล​จากรัฐ​ จากบริษัท​ประกันต่างๆ​ CPI จะวัดเฉพาะ "ส่วนเงินที่ผู้บริโภค​จ่ายตรงให้บริษัท" ในขณะที่​ PCE จะวัดครอบคลุม​ไปถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติมของบริษัทเเละโครงการ​รัฐด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เฟดเลือกใช้ค่า PCE เป็นหลักมากกว่า CPI เพราะครอบคลุมกว่านั่นเอง

3. Producer Price Index (PPI) ดัชนีราคาผู้ผลิต

ดัชนีนี้ใช้วัดเงินเฟ้อตัวนี้จะคล้ายกับ CPI เพียงแต่ เน้นไปที่ "ต้นทุนสินค้าบริการ" ของฝั่งผู้ผลิต

ต้นทุนสินค้าบริการที่เพิ่มขึ้น มีผลให้ต้นทุนค่าครองชีพและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามได้

หาจุดกลับตัว \"สินทรัพย์เสี่ยง\" ต้องเข้าใจ \"10 ดัชนีชี้นำ\" เศรษฐกิจสหรัฐ

4. Personal Income รายได้ส่วนบุคคล

รายได้ส่วนบุคคลนี้รวมตั้งแต่เงินเดือน โบนัส ค่าแรงจากนายจ้าง เงินปันผลจากการลงทุน และค่าเช่าจากการลงทุนในอสังหาฯ

รายได้ดังกล่าวมีผลต่อกำลังการบริโภคด้วย ถ้าเศรษฐกิจขยายตัว รายได้ส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจกำลังหดตัว รายได้ส่วนนี้จะค่อยๆ ลดลง

5. Nonfarm Payrolls ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร

เป็นตัวเลขแสดงการจ้างงานทั้งภาคบริการ ผลิตสินค้า การก่อสร้าง อุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่รวมภาคการเกษตร พนักงานราชการบางหน่วยอย่างด้านการทหาร ครัวเรือนส่วนบุคคล ธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท และองค์กรไม่แสวงหากำไร

ตัวเลขจ้างงานนี้หากมีแนวโน้มลดลง จะสะท้อนถึงเศรษฐกิจชะลอตัวไปจนถึงขั้นถดถอยได้

แต่หากตัวเลขนี้พลิกกลับมาขาขึ้น จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

6. Unemployment Rate อัตราการว่างงาน

ตัวเลขนี้แสดงถึงสัญญาณเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจชะลอ สินค้าขายไม่ออก สิ่งสำคัญที่จะลดต้นทุนธุรกิจได้ก็คือ การลดพนักงาน

7. Purchasing Managers Index(PMI) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ

เป็นดัชนีที่ทำขึ้นโดย IHS Markit สำรวจภาคธุรกิจมากที่สุดในโลกทั้งประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนา โดยสิ่งที่สอบถามมีตั้งแต่คำสั่งซื้อสินค้าใหม่, ผลผลิตโรงงาน, การจ้างงาน, เวลาที่ซัพพลายเออร์ใช้ขนส่งวัตถุดิบ และสินค้าคงคลัง

*หากเป็นข้อมูลสำรวจเฉพาะธุรกิจในสหรัฐฯ จะจัดทำโดย ISM(Institute for Supply Management) และข้อมูลสำรวจจากธุรกิจในจีน จะจัดทำโดยสถาบัน Caixin Media Company

แบ่งได้เป็น 2 ดัชนีย่อย คือ

1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI)

2) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Non-Manufactuting PMI หรือ Services PMI)

ดัชนีนี้สำคัญตรงที่ หากฝ่ายจัดซื้อของบริษัทต่างตอบแบบสอบถามว่าจะซื้อวัตถุดิบสินค้าในการผลิตเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ค่า PMI สูงกว่าระดับ 50 อันสะท้อนถึงเศรษฐกิจฟื้นตัว การจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้

ในทางตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายจัดซื้อมองว่าต่อไปเศรษฐกิจจะซบเซา หรือมองว่าขณะนี้ลูกค้าเริ่มชะลอตัวลง ก็จะตัดสินสินใจลดการซื้อวัตถุดิบสินค้าลงตาม ส่งผลให้ค่า PMI ต่ำกว่าระดับ 50 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายบริษัทต่างคาดการณ์กันว่ายอดขายอิเล็กทรอนิกส์ชิปต่างๆ น่าจะหดหายจากการระบาดโควิดครั้งใหญ่ จึงลดการผลิต ลดการสต็อกของลง “แต่ปรากฏว่าผิดคาด” ยอดสั่งของเหล่านี้กลับเพิ่มสูงมากจากวิถี Work From Home จึงกลายเป็นปัญหาอุปทานขาดแคลนในเวลาต่อมา

8. Index of Industrial Production ดัชนีการผลิตทางอุตสาหกรรม

ดัชนีนี้สะท้อนการผลิตที่สัมพันธ์กับอุปสงค์ด้วย โดยเฉพาะอุปสงค์ที่ลดจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งหากอุปสงค์ลดลงก็จะทำให้ดัชนีการผลิตนี้ลดลงตาม

9. Real Manufacturing and Trade Sales การผลิตจริงและยอดการค้า

ดัชนีนี้สะท้อนการผลิตที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯและรวมไปถึงการส่งออกด้วย โดยสัมพันธ์กับอุปทาน การส่งออก และการบริโภค โดยหากอุปทานขนส่งวัตถุดิบที่จำเป็นมีปัญหา จากการล็อกดาวน์หรือสงคราม ก็จะกระทบดัชนีนี้ให้ลดลง หากค่าเงินดอลลาร์แข็ง ก็จะทำให้สินค้าสหรัฐฯดูแพงและส่งออกลำบาก รวมไปถึงการหดตัวของผู้บริโภคก็กระทบการผลิตด้วย

10. Commodities สินค้าโภคภัณฑ์

สินค้าโภคภัณฑ์นี้สำคัญกับชีวิตผู้คนในระดับพื้นฐาน ยิ่งกว่าสินค้าราคาสูงอย่าง iPhone รถยนต์ ฯลฯ โดยเฉพาะประเทศที่ทานขนมปังเป็นหลัก ราคาแป้งสาลีจึงสำคัญอย่างมากต่อระดับเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซในการสร้างความอบอุ่น สร้างไฟฟ้า ราคาปุ๋ย ฯลฯ

ความต้องการในสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นสิ่งเตือนถึงวิกฤติเศรษฐกิจด้วย ตัวอย่างเช่น ก่อนเกิดวิกฤติอสังหาฯจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศบริโภคเหล็กขนาดใหญ่ในการก่อสร้าง ความต้องการบริโภคเหล็กของจีนลดลงเป็นอย่างแรก ถือเป็น Leading Indicator ที่เร็วมาก ก่อนที่วิกฤตอสังหาฯ และ GDP จีนหดตัวจะถูกประกาศตามมาภายหลัง  

โดยสรุปทั้ง 10 ตัวชี้นำเศรษฐกิจนี้ เราสามารถติดตามไปพร้อมกันการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC) ของเฟดได้ อันจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุน นักเก็งกำไรในการวางแผนจุดเข้าลงทุน รวมไปถึงยังสำคัญต่อการประเมินผลการจ่ายยาของเฟดได้อีกด้วย

อ้างอิง :

bloombergseekingalphathebalancemoneyinvestopedia