"หุ้นกู้" อย่าดูแค่ดอกเบี้ย! เช็ก 2 คำถามต้องตอบ ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้
ก่อนตัดสินใจซื้อ “หุ้นกู้” เพราะอยากได้ดอกเบี้ยสูง ต้องรู้ก่อนว่า ความเสี่ยงที่เรากำลังเผชิญอยู่ มากแค่ไหน แล้ว “ผลตอบแทน” ที่คิดว่าดีนั้น “คุ้ม” ที่จะเสี่ยงหรือเปล่า ?
ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น “บริษัทเอกชน” แห่ออก "หุ้นกู้" ประเภทต่างๆ เสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไปที่ล้วนจูงใจด้วยดอกเบี้ยสูงให้น่าซื้อเก็บเข้าพอร์ตทำกำไร เช่น ในช่วงเดือน ต.ค. 65 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ออกหุ้นกู้ดิจิทัล อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.60% ต่อปี เสนอขายแก่ประชาชน 18-20 ต.ค. 65
ขณะที่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ออกหุ้นกู้ ไม่มีประกันเสนอขายแก่ผู้ลงทุนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 4.00% ต่อปี เปิดให้จองซื้อในวันที่ 21 และ 25-26 ต.ค. 65 ฯลฯ
แม้หุ้นกู้จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีจุดเด่นที่ "ดอกเบี้ย" ค่อนข้างสูงแถมระบุผลตอบแทนไว้ชัดเจน แต่จุดสำคัญที่หลายคนมองข้ามคือ “ความเสี่ยง” ที่แต่ละคนรับไม่ได้เท่ากัน และอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ดังนั้น คนที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นกู้เลยจึงอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาให้ศึกษาให้เข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะการลงทุนไม่ได้มีแค่กำไรด้านเดียวอย่างแน่นอน
“อย่างน้อยคุณต้องรู้ว่าความเสี่ยงมันอยู่ตรงไหน ถ้าอยู่ความเสี่ยงประมาณนี้แล้วคุ้มความเสี่ยงหรือไม่”
สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WealthMagik กล่าวถึงการพิจารณาเบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ในการสัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" โดยเสนอแนวทางในการพิจารณาก่อนซื้อหุ้นกู้ผ่าน "2 คำถาม" ที่ควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนตัดสินใจลงทุน
1) หุ้นกู้มีความเสี่ยงแค่ไหน
หุ้นกู้เป็นเครื่องหนึ่งในวิธีระดมทุนของบริษัทในลักษณะของการขอกู้เงินจากผู้ลงทุน เพื่อนำเงินที่ได้บริหารกิจการตามแผนงาน จุดเด่นของหุ้นกู้ คือ มีดอกเบี้ยที่ชัดเจนตามระยะเวลาที่ลงทุน แต่ "ความเสี่ยง" ที่ตามมา คือ “เงื่อนไขของหุ้นกู้” ที่บางประเภทอาจไถ่ถอนได้ตามที่ผู้ออกหุ้นกู้กำหนดไว้เท่านั้น หรือ อาจมีการผิดนัดชำระหนี้ได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่อง “สภาพคล่อง” ในการซื้อขายในตลาดรองที่ทำได้ยากและอาจได้ราคาที่ไม่สมเหตุสมผล โดย “ตลาดรอง” ในทีนี้หมายถึงการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นกู้หรือพันธบัตรรัฐบาล ในกรณีที่ไม่ได้ถือไว้ถึงระยะที่กำหนดหน้าตั๋ว
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คล้ายกับการซื้อขายรถยนต์มือสองหรือบ้านมือสอง ที่ต้องอาศัยการมาเจอกันของผู้ที่ต้องการซื้อและต้องการขาย ไม่มีตัวกลางเป็น Exchange เปิดให้บริการเหมือนตลาดหุ้นที่จะซื้อขายได้สะดวกแค่นิ้วคลิก
ในส่วนนี้กล่าวโดยสรุปได้ว่า นอกจากผู้ซื้อหุ้นกู้จะต้องรับความเสี่ยงจากการบริหารงานของบริษัทที่ออกหุ้นกู้แล้ว ยังมีเรื่องเงื่อนไขยิบย่อยอื่นๆ ตามมา ซึ่งอาจทำให้หุ้นกู้นั้นไม่มีสภาพคล่อง ยากที่จะนำเงินลงทุนออกมาหากยังไม่ครบกำหนด
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อผู้ลงทุนไม่รู้ว่ากำลังต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากแค่ไหนทำให้วางแผนผิดพลาด โดยเฉพาะ “หุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง” ที่ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง
สำหรับหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง รู้ได้อย่างไรว่าเสี่ยงแค่ไหน ?
สมเกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ และประเมินความเสี่ยงหุ้นกู้เบื้องต้นก่อนลงทุนได้ด้วยตัวเอง
เช่นที่เว็ลธ์เมจิกมีบริการ WealthMagik Credit Ranking จัดอันดับความเสี่ยงของหุ้นกู้แต่ละรุ่นเป็นเลขไทย 1-8 ระดับ แบบเดียวกับกองทุนรวม ที่ช่วยนักลงทุนรายย่อยจะได้เข้าใจง่ายขึ้น
โดยอันดับความเสี่ยงเหล่านี้ มาจากการทำ Credit Scoring, Credit Ranking ที่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่วิเคราะห์เครดิตได้ในระดับที่เพียงพอสำหรับกลุ่ม SME ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการทำ Credit Rating แบบปกติ
นอกจากเครื่องมือ Credit Ranking แล้ว บล.เว็ลธ์เมจิก ยังมีระบบการซื้อขายที่ใช้คอนเซ็ปต์ Bond Best Deal คือรับซื้อราคาที่สูงกว่าและขายราคาถูกกว่าที่มีส่วนช่วยให้หุ้นกู้มีสภาพคล่องมากขึ้น
เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาการซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรองมีราคาซื้อกับราคาขายห่างกันมากจนสภาพคล่องไม่เกิด ซึ่งเมื่อราคาอยู่ในจุดที่เหมาะสมย่อมทำให้หุ้นกู้มีสภาพคล่องแบบเดียวกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่หุ้นสภาพคล่องดีย่อมมีราคาเสนอซื้อราคาเสนอขายใกล้เคียงกันมาก ในทางตรงกันข้ามหุ้นตัวที่ไม่มีสภาพคล่องราคาเสนอซื้อเสนอขายจะห่างกันมากนั่นเอง
2) คุ้มที่จะเสี่ยงหรือไม่
แม้การลงทุนไหนๆ ก็ย่อมมีความเสี่ยง แต่สิ่งที่หลายคนลืมพิจารณา คือ แท้จริงแล้วความเสี่ยงที่ต้องเผชิญนั้นคุ้มที่จะเสี่ยงจริงหรือ ?
สมเกียรติแนะนำว่า เมื่อเราเห็นว่าหุ้นกู้ที่กำลังจะลงทุนนั้นมีความเสี่ยงประมาณไหน สิ่งที่มาคิดต่อคือความเสี่ยงเหล่านั้นคุ้มที่จะเสี่ยงไหม โดยสามารถดูที่ Credit Spread ของหุ้นกู้ ว่า เข้ามาชดเชยความเสี่ยงที่ต้องเจอได้มากน้อยแค่ไหน
โดย Credit Spread คือ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชน ที่เพิ่มขึ้นมาจากพันธบัตรรัฐบาล เพื่อชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ที่จะช่วยให้รู้ว่าหากถือครองด้วยระยะเวลาเท่าๆ กันนั้น หุ้นกู้ให้ผลตอบแทนอย่างไรเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลที่ความเสี่ยงต่ำมาก (อ้างอิง: finnomena)
กล่าวง่ายๆ คือ ในมุมของผู้ซื้อหุ้นกู้ Credit Spread จะเป็นตัวที่บอกว่า ในระยะเวลาการถือครองที่เท่ากัน หากยอมเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยการลงทุนในหุ้นกู้ เราจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเท่าใดนั่นเอง
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว การซื้อหุ้นกู้จะดูที่ “ผลตอบแทน” อย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนเหมือนกับการลงทุนอื่นๆ เพราะความเสี่ยงที่ตามมาอาจทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ได้