ร่วมหุ้นจัดตั้งบริษัท ต้องรู้ ก่อนโดน "ภาษีย้อนหลัง" ล้มละลายแบบไม่รู้ตัว
อยากทำธุรกิจต้องรู้ ก่อนจะร่วมลงขัน ร่วมหุ้น ลงทุนกับคนอื่นเพื่อ "จดบริษัท" ควรศึกษาให้ดีก่อนว่าควรจดบริษัทแบบไหน เจ้าตัวจึงจะปลอดภัยจากการถูกเรียก "ภาษีย้อนหลัง" หรือกลายเป็นบุคคลล้มละลายแบบไม่ทันตั้งตัว
หากย้อนไปเมื่อประมาณเดือนกันยายนที่ผ่านมา ข่าวโด่งดังเรื่องการถูกหลอกให้เปิดบัญชีสร้างรายการเดินบัญชีให้สวยเพื่อซื้อบ้าน แต่กลับโดนกรมสรรพากรส่งจดหมายเตือนให้ไปเสียภาษีย้อนหลังกว่า 800 ล้านบาท เนื่องจากผู้ก่อเหตุได้นำบัตรประชาชน บัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม ของผู้เสียหายไปเป็นหุ้นส่วนเปิดบริษัท แต่ไม่ได้มีการเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ผู้เสียหายที่กลายเป็นหุ้นส่วนโดยไม่รู้ตัว ต้องรับผิดชอบภาษีย้อนหลังที่เกิดขึ้นแบบเต็มจำนวน
ดังนั้น อาจเรียกว่าเป็นอุทาหรณ์ให้กับใครหลายคนได้เป็นอย่างดี ว่าอย่าหลงเชื่อผู้อื่นจนง่ายเกินไป ซึ่งนอกจากจะไม่ควรให้หลักฐานสำคัญของตนเองกับคนอื่นแล้ว เวลาร่วมลงทุน ร่วมหุ้นเพื่อจดบริษัท ก็ควรศึกษาให้ดีก่อนว่าควรจดบริษัทแบบไหน เจ้าตัวจึงจะปลอดภัยจากการถูกภาษีย้อนหลัง หรือกลายเป็นบุคคลล้มละลายแบบไม่ทันตั้งตัว
- บริษัทจำกัด
บริษัทจำกัด เป็นรูปแบบที่มีผู้นิยมจดทะเบียนนิติบุคคลมากที่สุด โดยจะต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เข้าร่วมลงทุนและดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน และมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ
– แบ่งทุนออกเป็นหุ้นละเท่าๆ กัน หุ้นจะต้องมีราคาไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ต่อ 1 หุ้น หรือรวมแล้วทุนขั้นต่ำ 15 บาท
– ผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในหนี้สินกิจการ เฉพาะในส่วนที่ต้องชำระเงินทุนตามค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในบริษัทอีก
– บริหารงานโดยคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง
ประเด็นสำคัญสำหรับการจดบริษัทเป็น “บริษัทจำกัด” สำหรับหุ้นส่วนจะมีข้อดีที่ หุ้นส่วนทุกคนจะรับผิดชอบเฉพาะค่าหุ้นที่ตนเองจดทะเบียนเท่านั้น หากชำระเงินทุนครบแล้ว เมื่อบริษัทมีหนี้สินเกิดขึ้น มีภาษีย้อนหลังที่ต้องเสีย หรือบริษัทล้มละลาย ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในบริษัทอีก
ด้วยเหตุนี้ “บริษัทจำกัด” จึงถือว่าเป็นรูปแบบการจดบริษัทนิติบุคคลที่ผู้ถือหุ้นปลอดภัยที่สุดก็ว่าได้
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) คือกิจการที่ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน และมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ
– ไม่มีกำหนดทุนขั้นต่ำ
– ผู้ถือหุ้นมี 2 แบบคือ
1) “จำกัด” ความรับผิด คือ รับผิดชอบตามเงินลงทุนของตนเอง แต่จะไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจในกิจการ มีสิทธิ์เพียงสอบถามการดำเนินงานของกิจการได้
2) “ไม่จำกัด” ความรับผิด คือ รับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการ โดยมีสิทธิ์ตัดสินใจต่างๆ ในกิจการได้อย่างเต็มที่ (หุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด)
ประเด็นสำคัญสำหรับการจดบริษัทเป็น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” สำหรับหุ้นส่วนนั้น ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกจดบริษัทรูปแบบนี้ เนื่องจากมีทั้งจำกัดความรับผิดและแบบไม่จำกัดความรับผิด โดยเฉพาะหากเป็น “หุ้นส่วนผู้จัดการ” จะต้องเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ควรหลีกเลี่ยงในการจดบริษัทรูปแบบ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” หรือผู้ถือหุ้นควรเลือกแบบจำกัดความรับผิด รวมถึงหากไม่มั่นใจ "ผู้ถือหุ้น" ไม่ควรเป็น "หุ้นส่วนผู้จัดการ" โดยเด็ดขาด จะปลอดภัยจากการรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดของบริษัทนั่นเอง
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญแบบจดทะเบียน ซึ่งจะต้องใช้คำว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ประกอบหน้าชื่อห้างเสมอ โดยห้างหุ้นส่วนดังกล่าวนี้จะต้องมีการระบุชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไว้อย่างชัดเจน อาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ โดยหุ้นส่วนผู้จัดการจะเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันห้างหุ้นส่วน และทำธุรกรรมต่างๆ ในนามห้างหุ้นส่วนได้
และมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ
- มีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
– ไม่มีกำหนดทุนขั้นต่ำ
– ต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินของกิจการอย่างไม่จำกัด แต่หุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิ์จัดการกับกิจการ และแบ่งปันกำไรจากกิจการได้
ประเด็นสำคัญสำหรับการจดบริษัทเป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” สำหรับหุ้นส่วนคือ เป็นรูปแบบการจดบริษัทนิติบุคคลที่เสี่ยงที่สุด เนื่องจากผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินของบริษัททั้งหมดที่เกิดขึ้นแบบไม่จำกัดจำนวน เมื่อบริษัทมีหนี้สินเกิดขึ้น ถูกภาษีย้อนหลัง หรืออื่นๆ ก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด
สรุป
และจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้เสียหายได้กลายเป็น “หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด” ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จึงต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดขึ้นในบริษัททั้งหมดไปโดยปริยาย แนวทางปฏิบัติสำหรับกรมสรรพากร ที่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายคือ จะต้องตรวจทรัพย์สินก่อนว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้าไม่มีทรัพย์สินก็จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง สุดท้ายถ้าไม่มีก็จะต้องเป็นบุคคลล้มละลาย
ดังนั้น แนะนำว่าเวลาร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับใคร นอกจากจะต้องไว้ใจได้จริงๆ แล้ว ควรเลือกจดบริษัทเป็นบริษัทจำกัด เพื่อรับผิดชอบในหนี้สินกิจการเฉพาะในส่วนที่ต้องชำระเงินทุนตามค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในกิจการอีก
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่