ธปท. ส่องสินเชื่อโค้งสุดท้าย รายใหญ่แห่ลงทุน - ควบรวมกิจการพุ่ง

ธปท. ส่องสินเชื่อโค้งสุดท้าย รายใหญ่แห่ลงทุน - ควบรวมกิจการพุ่ง

โดยสรุป คาดการณ์แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อ ไตรมาส 4 ธุรกิจยังคงมีความต้องการสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจขนาดใหญ่ต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งการควบรวมกิจการ ลงทุนในโครงการ และในสินทรัพย์ถาวร ส่วนหนึ่งเพื่อเร่งระดมทุนก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้น

       ภาพรวมเศรษฐกิจไทย เริ่มทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แรงหนุนสำคัญคือ การท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น  หลังทยอยผ่อนปรนมาตรการคุมโควิด-19 ทำให้เป็นแรงผลักดันสำคัญต่อหลายภาคธุรกิจกลับมาใกล้เคียงระดับปกติได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หลายธุรกิจเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น

     สอดคล้องกับ ข้อมูลการสำรวจของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) ที่ล่าสุด มีการเปิดผลสำรวจภาพรวมสินเชื่อไตรมาส 3 และแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ทำการสำรวจ จากความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 24 แห่ง ตลอดจน นอนแบงก์ 24 แห่ง ซึ่งครอบคลุม 90.1% ของทั้งระบบ

       โดยสรุป คาดการณ์แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อ ไตรมาส 4 ธุรกิจยังคงมีความต้องการสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจขนาดใหญ่ต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งการควบรวมกิจการ ลงทุนในโครงการ และในสินทรัพย์ถาวร ส่วนหนึ่งเพื่อเร่งระดมทุนก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้น

     ขณะที่ “เอสเอ็มอี” ยังคงต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และผลิตสินค้าคงคลังเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

      แต่ภายใต้การขอสินเชื่อมากขึ้น ในมุมแบงก์ มีการ “ตรึง” มาตรฐานการให้สินเชื่อที่ยังเข้มงวด เพราะยังมีบางกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบจาก “ภาระดอกเบี้ย” ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

      ด้าน “ครัวเรือน” คาดความต้องการสินเชื่อยังคงเพิ่มขึ้นทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่มาจากการทำแคมเปญส่งเสริมการขายมากขึ้น ก่อนจะทยอยปรับเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อให้เข้มงวดขึ้น ตามประกาศควบคุมสินเชื่อรถยนต์ในต้นปี 2566 เป็นต้นไป

       สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบัตรกดเงินสด ยังเป็นกลุ่มที่ยังขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ในไตรมาส 4 ปีนี้ จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคปรับเพิ่มขึ้น

      ในด้านมาตรการปล่อยสินเชื่อ “แบงก์” ยังคงเข้มงวด กับการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง เพราะสถาบันการเงินบางแห่งยังคงกังวลต่อความเสี่ยงของผู้กู้ในช่วงที่ภาระหนี้ และค่าครองชีพปรับสูงขึ้น

   “ชมภูนุช ปฐมพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ  ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า สินเชื่อของแบงก์ ยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะเห็นดีมานด์การขอสินเชื่อเพิ่มมาต่อเนื่อง ทั้งรายใหญ่ และธุรกิจระดับกลาง แต่ส่วนใหญ่ เป็นการขอสินเชื่อเพื่อใช้ในการลงทุน เพื่อรับกับโลกใหม่

     รวมถึงการลงทุนธุรกิจในด้าน ESG หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ของโลกที่ธุรกิจมีการปรับตัวไปสู่ทิศทางนี้มากขึ้น

      “ไม่เฉพาะรายใหญ่ รายกลางเท่านั้น ที่มีดีมานด์สินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่รายย่อยเอง ก็เติบโตได้โดดเด่น โดยเฉพาะ สินเชื่อบ้าน ที่วันนี้เติบโตได้กว่า 10% โดยเฉพาะดีมานด์สินเชื่อจากกลุ่มบน ที่ต้องการซื้อบ้านราคาสูง”

      โดยเฉพาะ ยิ่งใกล้หมด มาตรการการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือ แอลทีวี ในสิ้นปีนี้ จะเห็นรายย่อย เร่งกู้บ้านมากขึ้น ก่อนมาตรการจะเข้าสู่ระดับปกติ ทำให้คาดว่าสินเชื่อบ้านยังเป็นสินเชื่อที่จะเห็นเติบโตได้เพิ่มขึ้นมากในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ดังนั้น การเติบโตสินเชื่อของแบงก์ปีนี้ แบงก์ยัง conservative โดยคาดว่าจะเติบโตได้ระดับ 10%ในปีนี้

       “เราเห็นธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจขนาดกลาง มีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น หลังเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และที่โดดเด่นคือ รีเทล ที่โตได้ดีกว่า 10% โดยเฉพาะบ้านขนาดใหญ่ ราคาสูง ในกลุ่มบน ที่ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่ม ที่กลุ่มนี้ยังมีแรงซื้อต่อในโค้งท้ายนี้ และคาดว่าจะเร่งซื้อมากขึ้น ก่อนจะหมดมาตรการ LTV ในสิ้นปีนี้" 

     “ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า ยังเชื่อว่า สินเชื่อของระบบแบงก์ยังคงเติบโตได้ต่อ ในช่วงโค้งท้าย เนื่องจากมีดีมานด์สินเชื่อเข้ามาต่อเนื่อง กระจายทุกกลุ่มสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ที่ทิสโก้ มีการเข้าไปรุกมากขึ้น ที่เห็นการเติบโตต่อเนื่อง ผ่าน “สมหวังเงินสั่งได้”

      ดังนั้นภาพรวมสินเชื่อของ “ทิสโก้” ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเกินเป้าหมายที่วางไว้ได้ ไปสู่ระดับ 6-7% หากเทียบกับเป้าหมายเมื่อต้นปี ที่คาดไว้เพียง 3-5% และช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อเติบโตไปแล้ว 5%

       “9 เดือนที่ผ่านมา เราโตมาแล้ว 5% และช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เราก็คาดว่าสินเชื่อยังโตได้ต่อเนื่อง ทำให้สินเชื่ออาจโตเกินเป้าหมายที่เราไว้ไปสู่ 6-7% ซึ่งเป็นการโตทุกกลุ่มในสินเชื่อที่มีหลักประกัน ที่เราถนัด”

      “กฤษณ์ จิตต์แจ้ง” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เชื่อว่า สินเชื่อของแบงก์ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งภาพสินเชื่อรายใหญ่ที่ยังเห็นดีมานด์การขอสินเชื่อต่อเนื่อง
        ขณะที่เอสเอ็มอีเริ่มกลับมาแข็งแกร่ง จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ลูกค้าของธนาคารทยอยปรับตัวดีขึ้น ทั้งการลงทุนใหม่ หรือการลงทุนต่อยอดกิจการมากขึ้น

        ส่วนภาพหนี้เสียของธนาคารปัจจุบันอยู่กว่า 3% ถือเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ และมีแนวโน้มลดลงได้ ทั้งการบริหารพอร์ต โดยการขายออกให้บริษัทบริหารสินทรัพย์

       “แม้ภาพรวมโตได้ดี หนี้เสียไม่ได้มาก แต่สำรองหนี้เสียของแบงก์ยังอยู่ระดับสูง เพราะอนาคต ยังคงมีความเสี่ยง ทั้งจากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากต่างประเทศ ดังนั้นแบงก์ต้องทำตัวเองให้แข็งแรง อย่าไปมองว่าแม้เข้าสู่ช่วงปกติแล้ว แบงก์จะเลิกสำรอง และขึ้นอยู่กับนโยบายการดูแลความเสี่ยงของแต่ละแบงก์ด้วย”

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์