BTS จ่อควัก กรีนชู ขาย7พันล้าน หลัง‘หุ้นกู้ยั่งยืน’ทะลักแตะ2หมื่นล้าน
บีทีเอส” เตรียมเปิดขายหุ้นกู้ยั่งยืน ระหว่าง 25-29พ.ย.นี้ เผยดีมานด์เบื้องต้นล้นกว่า 2 หมื่นล้าน จากวงเงินขาย 1.3 หมื่นล้าน เล็งควักกรีนชูออกขายเพิ่มอีก 7 พันล้าน นำเงินใช้ลงทุนด้านความยั่งยืน พร้อมประกาศเดินหน้าฟ้อง กทม. ทวงหนี้เกือบ 4 หมื่นล้าน
ล่าสุด บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เตรียมเปิดขายหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bonds : SLB) ซึ่งจะเริ่มขายในวันที่ 25 พ.ย. และ 28-29 พ.ย.2564 เสนอขายจำนวน 4 รุ่น
โดยมีเป้าหมายการระดมทุนเบื้องต้นที่ 13,000 ล้านบาท โดยเงินที่ได้จะนำไปใช้ลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และบางส่วนใช้เป็นสภาพคล่องหมุนเวียนในบริษัท
นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้นกู้ของบริษัทค่อนข้างมาก เบื้องต้นพบว่ามีความต้องการซื้อเกือบ 20,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการระดมทุนที่ 13,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากความต้องการซื้อมีมากกว่าที่คาด บริษัทอาจใช้กรีนชู ออปชั่น (Greenshoe Option) ที่ได้ขอทางก.ล.ต.ไว้จำนวน 7,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเพียงพอกับความต้องการของนักลงทุน
นายสุรยุทธ กล่าวด้วยว่า ในระยะข้างหน้าบริษัทยังมีแผนออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทบรรจุเป้าหมาย ในการลดคาร์บอนฯ
ดังนั้น ในปีหน้าอาจมีการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งวงเงิน ประเภทหุ้นกู้ และหุ้นกู้ที่จะออกขายนักลงทุนว่าจะออกขายให้นักลงทุนกลุ่มใด
ทั้งนี้ หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนทั้งหมด ที่บริษัทได้ออกมาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันมียอดคงค้างแล้วเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งบางส่วนออกมาเพื่อโรโอเวอร์หุ้นกู้เดิมที่จะหมดอายุ
สำหรับหุ้นกู้ SLB ที่ทำการเสนอขายในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 รุ่น กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และจะเสนอขายระหว่างวันที่ 25 และ 28-29 พ.ย.นี้ ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ระดับ “A” จากทริสเรทติ้ง และกำหนดมูลค่าจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
++ เดินหน้าฟ้องกทม.ชำระค่าจ้างเดินรถพร้อมดอกเบี้ย
นอกจากนี้ นายสุรยุทธ ยังกล่าวถึงประเด็นที่บริษัทเตรียมยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด อีกครั้งด้วยว่า การยื่นฟ้องดังกล่าวเพื่อเรียกร้องให้จ่ายค่าจ้างการเดินรถไฟฟ้า สายสีเขียว หลังจากกทม.และ กรุงเทพธนาคม ไม่มีการชำระคืนเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย สะท้อนผ่านเมื่อพ.ค.ที่ผ่านมา แบงก์ได้ยื่นฟ้องร้องรวมดอกเบี้ยราว 1.7 หมื่นล้านบาท
“การฟ้องกทม.และกรุงเทพธนาคม ถือเป็นการดำเนินการทางนิติกรรมไป เพราะต้องตอบผู้ถือหุ้น ด้วยว่าฐานะฝ่ายบริหารทำอะไรบ้าง ทางนิติกรรมก็ต้องเดินไป ก่อนหน้าฟ้อง พ.ค.ที่ผ่านมา ยื่นฟ้องอยู่ที่ 1.7หมื่นล้านบาท ถึงตอนนี้คงมูลค่าฟ้องร้องต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้นทางนิติกรรมก็ต้องดำเนินการต่อ และเรามีการบัญชีทางบัญชีในงบอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ เชื่อว่า ข้อพิพาทระหว่างกทม.นั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน เพราะบริษัทได้ดำเนินการถูกต้อง และมั่นใจนักลงทุนเชื่อมั่นในธุรกิจบริษัท ที่ยังมีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ Move Mix และ Match
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี กล่าวว่า ขณะนี้ได้ยินจากทางผู้ว่า กทม. จะจ่ายหนี้ และพยายามยื่นเรื่องไปยังสภา กทม. อยู่ ก็อยากขอความเห็นใจอะไรที่จ่ายได้ก็ขอให้รีบดำเนินการ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาดอกเบี้ยที่เดินทุกวัน
อีกทั้ง ปัจจุบันศาลปกครองก็ได้ตัดสินแล้วด้วยว่าให้กรุงเทพธนาคมและ กทม. รับผิดชอบหนี้ทั้งต้นและดอกร่วมกัน ซึ่งทางบีทีเอสได้พยายามดิ้นรนแก้ไขปัญหาจากการเพิ่มทุนไปแล้ว และกำลังกู้เพิ่ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเดินรถ เนื่องจากต้นทุนพนักงานและค่าบำรุงรักษาเกิดขึ้นทุกวัน จึงอยากให้ กทม. พิจารณาหนี้ในส่วนที่ไม่ติดปัญหาอะไร หากจ่ายได้ก็ขอให้ทยอยจ่ายมาก่อน
กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอบนรถไฟฟ้าและสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เกี่ยวกับมูลหนี้ 4 หมื่นล้านบาท ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
โดยระบุว่า การเผยแพร่คลิปดังกล่าวเพราะต้องการขอความเห็นใจจากภาครัฐ กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้ชำระค่าใช้จ่ายจากการให้บริการรถไฟฟ้าโดยขอให้เร่งชำระในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ผ่านมาศาลปกครองได้ตัดสินแล้วว่าสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และตากสิน - บางหว้า เป็นสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
อีกทั้งที่ผ่านมาทางเคทีก็มีการชำระค่าจ้างส่วนนี้มาโดยตลอด ส่วนสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิด - สะพานใหม่ - คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันศาลปกครองกลางวินิจฉัยแล้วว่าให้กรุงเทพธนาคมและ กทม.ร่วมชำระค่าจ้างเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ดังนั้นจึงถือได้ว่าการจ้างเดินรถส่วนนี้มีสัญญา
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพธนาคม และ กทม. มียอดหนี้ที่ต้องชำระให้กับทางบีทีเอส แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 จากอ่อนนุช - แบริ่ง และตากสิน - บางหว้า โดยเป็นสัญญาที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ทำสัญญาที่ถูกต้องตามขั้นตอน เพราะทาง กทม.ได้หารือเกี่ยวกับสัญญานี้ในชั้นกฤษฎีกาแล้ว ผ่านสภา กทม.ตามระเบียบกำหนด และบีทีเอสได้รับการจ่ายค่าจ้างตามสัญญามาตลอดจนกระทั่งปี 2562 เป็นต้นมาที่ไม่ได้รับชำระ
ส่วนที่ 2 ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการที่ กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งขณะนี้ทราบว่าทาง กทม.มองว่าเป็นสัญญาที่มีปัญหา
แต่บีทีเอสในฐานะคู่สัญญาก็ยืนยันว่าสัญญาจ้างงานส่วนนี้ บีทีเอสมีสัญญากับกรุงเทพธนาคม และกรุงเทพธนาคมก็มีหนังสือการมอบหมายจาก กทม.ให้มาดำเนินการเรียบร้อย โดยสัญญาจ้างเดินรถส่วนนี้ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา เพราะทางกรุงเทพธนาคม และ กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์
และส่วนที่ 3 ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) ส่วนนี้มีวงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดบีทีเอสได้ยื่นรายละเอียดของมูลหนี้ส่วนนี้แจ้งไปยัง กทม.ให้รับทราบแล้ว เนื่องจากงานติดตั้งระบบไฟฟ้า/เครื่องกล ปัจจุบันก็ติดตั้งแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายมานานแล้ว จึงอยากขอให้ทาง กทม.พิจารณาจ่ายค่าจ้างงานส่วนนี้ แต่ปัจจุบันทาง กทม.ยังไม่มีการตอบรับกลับมา
“หากรวมมูลหนี้จากการเดินรถส่วนต่อขยายทั้งสองช่วงก็ราว 2 หมื่นล้านบาท และรวมกับค่าจ้างติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกลอีก 2 หมื่นล้านบาท ก็จะรวมทั้งหมดประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เราเป็นเอกชนเงินจำนวนนี้ก็เยอะมาก เราก็มองว่าอย่างน้อยผู้ถือหุ้นต้องรับทราบด้วย ว่าเราพยายามทำ และคุณคีรี ท่านประธานก็พยายามเพื่อประชาชน โดยจะไม่หยุดเดินรถแน่นอน ทำให้ล่าสุดเราต้องเพิ่มทุนบริษัท 1.5 หมื่นล้านบาท และกำลังจะกู้ผ่านบริษัทแม่ บีทีเอส กรุ๊ป เพิ่มเติมอีก เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปกระทบบริการประชาชน"
อย่างไรก็ดี บีทีเอสซีในฐานะเอกชนผู้รับจ้างเดินรถ ก็อยากให้ภาครัฐช่วยจ่ายหนี้ ส่วนใดที่เคยจ่ายได้ก็ขอให้จ่าย อย่างส่วนต่อขยายที่ 1 ที่เคยจ่ายมาก็อยากให้จ่ายบ้าง โดยสัญญางานจ้างส่วนนี้ปัจจุบันมีมูลค่าหนี้รวมหลักพันล้านบาท จึงอยากให้ภาครัฐจ่ายและเพื่อให้บริษัทไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพียงฝ่ายเดียว และเพื่อไม่ให้ กทม.ต้องเสียดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นภาระต่อภาษีประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วย
แย้มผลประกอบการบีทีเอสปีนี้พุ่ง
สำหรับผลประกอบการของบีทีเอสปี 2565 เชื่อว่ามีทิศทางเติบโตดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากปัจจุบันที่อัตราโดยสารเริ่มกลับมาเติบโตมากขึ้น ซี่งระดับสุงสุด หรือช่วงพีค เช่นเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา อัตราโดยสารผ่านบีทีเอสอยู่ที่ 8.8 แสนคน หรือคิดเป็นการกลับมาราว 90% หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 แม้นักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมา
ขณะที่อัตราโดยสาร ช่วงปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 7แสนคนต่อวัน หรือราว70-80% ซึ่งถือว่ากลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้นน่าจะหนุนภาพรวมบริษัทให้ปรับตัวดีขึ้น
รวมถึงธุรกิจอื่นๆของบริษัท เช่น ธุรกิจสื่อนอกบ้าน ที่เติบโตได้ดี จากอัตราโฆษณาที่กลับมาเติบโตดีขึ้น ส่วนธุรกิจขนส่ง บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ปัจจุบันยังเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง