9 เคล็ดลับ "ออมเงิน" แบบง่ายๆ แถมไม่ต้องเสีย "ภาษี"

9 เคล็ดลับ "ออมเงิน" แบบง่ายๆ แถมไม่ต้องเสีย "ภาษี"

ทำความรู้จัก "เงินออม" แต่ละประเภท พร้อมหลักการออมเงินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ที่นอกจากจะต้องดูกันที่ "ดอกเบี้ย" หรือผลตอบแทนที่แตกต่างกันแล้ว ยังต้องเข้าใจเรื่อง "ภาษี" อีกด้วย เพราะการออมเงินแต่ละประเภทนั้น เสียภาษีไม่เหมือนกัน

ในยุคที่ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างราคาสูงขึ้นแบบไม่มีลดละ ทำให้คนจำนวนมากเริ่มหันมาประหยัดอดออมเงิน และ "การออมเงิน" นั้นก็มีหลากหลายวิธี แต่อาจมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะต้อง "เสียภาษี" ด้วย

 

9 เคล็ดลับ ออมเงินแบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องเสียภาษี

คุณสามารถ ออมเงินแบบง่ายๆ ที่ ไม่ต้องเสียภาษี เพียงศึกษาเงื่อนไขที่แตกต่างกันของการออมแต่ละประเภท ดังนี้

1.เงินฝากออมทรัพย์

เนื่องจากเงื่อนไขสำหรับการฝากเงินแบบออมทรัพย์ ทุกบัญชีและทุกธนาคาร หาก "ดอกเบี้ยรับ" รวมเกิน 20,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เฉพาะดอกเบี้ยตั้งแต่บาทแรก ไม่เกี่ยวกับเงินต้น แต่หากดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

โดยในกรณีที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท หากลงทะเบียนยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรเท่านั้น ก็จะได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเหมือนเดิม

2.เงินฝากประจำ 

เงินฝากประจำ เป็นบัญชีที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ต้องการออมเงินเป็นอย่างมาก เพราะมีข้อกำหนดต้องฝากทุกเดือนติดต่อกัน 24 เดือน โดยไม่สามารถถอนออกมาได้จนกว่าจะครบกำหนด หรือรวมทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

โดยบางแห่งมีการกำหนดขึ้นต่ำในการเริ่มต้นฝากประจำ รวมไปถึงกำหนดให้เปิดได้เพียงคนละหนึ่งบัญชีเท่านั้น และในกรณีที่ฝากเงินประจำแล้วมีการขาดส่งเกิน 2 ครั้ง ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีทันที

 

3.เงินฝากประจำสำหรับผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

เงินฝากประจำสำหรับผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ที่มีระยะเวลาฝากขั้นต่ำ 1 ปี และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยฝากประจำทุกประเภทแล้วไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษี

4.เงินฝากเผื่อเรียกหรือออมทรัพย์ของธนาคารของรัฐ

สำหรับ เงินฝากเผื่อเรียก ของธนาคารรัฐจะได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แต่อัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้สูงกว่าการฝากออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ แต่ได้รับยกเว้นภาษีอย่างแน่นอน

 

5.สลากออมสินของรัฐบาล

สลากออมสิน ของรัฐบาลเป็นแนวทางการออมเงินที่ไม่ต้องเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา และยังสามารถลุ้นรางวัลได้ยาวนานตลอดระยะเวลาของการฝาก ที่สำคัญเงินรางวัลที่ได้รับก็ไม่เสียภาษีเช่นกัน ซึ่งสลากออมทรัพย์จะมีรูปแบบคล้ายกับบัญชีเงินฝากประจำ มีการนำเงินเหล่านี้ไปซื้อสลากออมทรัพย์เป็นระยะเวลาหนึ่ง

โดยราคาของสลากจะมีราคาหน่วยที่ต่างกันออกไป ตามแต่ละธนาคารกำหนด ซึ่งจะไม่สามารถถอนออกมาก่อนได้ และดอกเบี้ยที่ได้รับจากสลากออมทรัพย์จะได้รับการยกเว้นภาษี รวมถึงเงินรางวัล

 

6.เงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์

สำหรับข้าราชการหรือพนักงานของหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล จะได้รับสิทธิ์ฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานนั้นๆ ได้ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ของสำหรับข้าราชการ ซึ่งดอกเบี้ยจะสูงกว่าการฝากออมทรัพย์ทั่วไป และมีเงินปันผลให้แก่สมาชิกที่ถือหุ้นสหกรณ์ โดยได้รับการยกเว้นภาษี

 

7.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

พนักงานประจำที่ทำ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" กับบริษัท ถือเป็นการออมเงินระยะยาว และยังได้เงินส่วนสมทบจากนายจ้าง และกำไรจากการดำเนินงานของกองทุนอีกด้วย ซึ่งจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน อีกทั้งผู้ที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

 

8.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ออมเงิน ด้วยการลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ถือเป็นการออมเงินระยะยาว เพื่อใช้ในการวางแผนการเงินหลังเกษียณ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษี ผู้ลงทุนจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ส่วนต่างของมูลค่าหน่วยลงทุน เงินปันผลในบางกองทุน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF จะหักได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

 

9.ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการออมเงินในหุ้น

กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้โอนขายหุ้น จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

 

สรุป

รูปแบบการออมเงินต่างๆ นี้ สามารถเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่อยากออมเงิน ได้ใช้พิจารณาให้เหมาะกับตนเองและความต้องการของแต่ละบุคคล รวมถึงหากการออมเงินได้รับยกเว้นภาษีด้วย ก็จะช่วยให้คุณออมเงินได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

-

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่