‘เงินบาทแข็งค่า’เปิดตลาดที่ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ สูงสุดในรอบ6เดือน

‘เงินบาทแข็งค่า’เปิดตลาดที่ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ สูงสุดในรอบ6เดือน

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทแข็งค่าเร็ว หลังตลาดการเงินมีความหวังเฟดชะลอเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากการแข็งค่าของเงินบาทใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ คาดธปท. น่าจะเข้ามาช่วยดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทได้บ้าง มองกรอบวันนี้ ที่ 34.65-34.90 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ธ.ค.)  ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าสุดในรอบ6เดือน นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2565 และแข็งค่ามากขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ35.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65 -34.90 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า ค่าเงินบาทได้แข็งค่าอย่างรวดเร็ว หลังหลุดจากโซนแนวรับที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สู่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ เราได้ประเมินในวันก่อนหน้า ว่าอาจเป็นระดับที่เงินบาทสามารถแข็งค่าไปได้ หากหลุดจากแนวรับสำคัญ 

โดยปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึง โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นและบอนด์ไทย 

เราประเมินว่า ค่าเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากปัจจัยฝั่งแข็งค่าดังกล่าวในวันนี้ได้บ้าง โดยเฉพาะโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และอาจมีโฟลว์ซื้อสุทธิบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท (ซึ่งใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินว่าอาจเป็นระดับของเงินบาทในปลายไตรมาสแรกของปีหน้า) จะส่งผลให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทได้บ้าง 

นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนที่มีสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทแข็งค่า) ก็อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรได้บ้างเนื่องจากโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ก็เริ่มเป็นโซนแนวรับเชิงเทคนิคัล ทำให้การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้างในระยะสั้นนี้ 

เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งต้องระวังว่า หากการจ้างงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ลง ก็อาจยิ่งหนุนแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้อีกไม่มาก หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้แต่หาก การจ้างงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งหรือดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ตลาดเริ่มกังวลต่อมุมมองดังกล่าว ซึ่งเราอาจเห็นการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง และเงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.13% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.09% หลังดัชนี PMI ภาคการผลิต โดย ISM (ISM Manufacturing PMI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 49 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาด สะท้อนถึงภาวะหดตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นบางส่วน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ (Meta +2.0%, Nvidia +1.3%, Apple +0.2%) หลังผู้เล่นในตลาดตอบรับในเชิงบวกต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จากรายงานเงินเฟ้อ Core PCE หรือ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน ที่ไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน (ซึ่งเป็นดัชนีเงินเฟ้อที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด) ได้ชะลอลง +0.2% ในเดือนตุลาคม หรือคิดเป็น 5.0% เมื่อเทียบรายปี

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.80% หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้สูงไปมากกว่าที่ตลาดคาดแถว 5%-5.25% ส่งผลให้ราคาหุ้นเทคฯยุโรป ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ASML +3.8%, Adyen +2.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากความหวังว่าทางการจีนจะสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ได้เร็วขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากการประท้วง

ทางด้านตลาดบอนด์ รายงานเงินเฟ้อ PCE ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตที่แย่กว่าคาด ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่อง -10bps สู่ระดับ 3.52% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรการปรับตัวลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ได้ในช่วงใกล้ระดับ 3.50% ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับดังกล่าวในระยะสั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ไม่ได้แย่ลงอย่างที่ตลาดคาดการณ์ ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ  

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 104.7 จุด ต่ำกว่าโซนแนวรับสำคัญที่ 105 จุด ซึ่งในเชิงเทคนิคัลจะชี้ว่า เงินดอลลาร์ได้เริ่มกลับมาเป็นเทรนด์ขาลงที่ชัดเจนขึ้น โดยปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ยังคงเป็นแนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ตามข้อมูลเงินเฟ้อและภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุโซนแนวต้านสำคัญ สู่ระดับ 1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้ามาขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาและระมัดระวัง คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงเป็นภาคส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมอาจชะลอลง สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนพฤศจิกายนที่จะเพิ่มขึ้น2 แสนตำแหน่ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีการจ้างงาน +2.6 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ ค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อาจโตชะลอลงเหลือ +0.3%m/m หรือ +4.6%y/y ซึ่งอาจช่วยลดแรงกดดันต่อสถานการณ์เงินเฟ้อหรือลดความเสี่ยงของ Wage-Price Spiral ที่เฟดกังวล