คิดจะขายสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช็กข้อกฎหมาย และภาษีที่ควรรู้

คิดจะขายสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช็กข้อกฎหมาย และภาษีที่ควรรู้

หากต้องการทำธุรกิจขายสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจ้าของธุรกิจจะต้องทราบข้อกฎหมาย ทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการถูกสั่งปิด พร้อมด้วยเรื่องของ “ภาษี” ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

กฎหมายว่าด้วยสุรา กำหนดนิยามไว้ว่า สุรา หมายความรวมถึงวัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา หรือหากดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่น แล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา

และสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ ก็จัดเป็นเครื่องดื่มควบคุมตามกฎหมายตั้งแต่การผลิต การเสียภาษี การใช้สุราทำสินค้าบางชนิด การขาย การขน การจดทำบัญชี เป็นต้น เพราะสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อบริโภคแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงต้องมีการควบคุมเป็นพิเศษ

ดังนั้น หากต้องการทำธุรกิจขายสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจ้าของธุรกิจจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และขออนุญาตที่กรมสรรพสามิตให้ถูกต้องก่อนเปิดขาย เพื่อป้องกันการถูกสั่งปิดหากมีการตรวจสอบพบว่าไม่ได้ขออนุญาต และศึกษาข้อมูลลังจากขออนุญาตแล้วว่าต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมด้วยเรื่องของภาษีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

  • ข้อห้าม ที่ไม่ควรมองข้าม...เรื่องสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามกฎหมายกำหนด

​หลักการขายสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เจ้าของธุรกิจควรเพิ่งปฏิบัติ เมื่อขออนุญาตและจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว จะต้องทำตามกฎหมายที่กำหนดดังนี้

1. สถานที่หรือบริเวณที่ห้ามขายแอลกอฮอล์

- วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา

- โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา

- สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้น บริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร

- หอพัก

- โรงเรียน มหาวิทยาลัย และบริเวณรอบโรงเรียน มหาวิทยาลัย 

- ปั๊มน้ำมัน ปั๊มก๊าซ

- สวนสาธารณะของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ

- พื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน ยกเว้น การขายที่เป็นปกติธุระในทางการค้าของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

- บนทาง เช่น ถนน ไหล่ทาง ทางเท้า

- พื้นที่ในกำกับดูแลและใช้ประโยชน์ของทางราชการรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร

- สถานีรถไฟ/ในขบวนรถไฟ

- สถานีขนส่ง

- ท่าเรือโดยสารสาธารณะ/บนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง

​ทั้งนี้ หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.วันและเวลาที่ห้ามขายแอลกอฮอล์

- ห้ามขายในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ  

- ขายได้เฉพาะช่วงเวลา 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. ยกเว้นการขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ/การขายในสถานบริการ ซึ่งเป็นไปตามกำหนดเวลาเปิดปิดของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

​ทั้งนี้ หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.บุคคลที่ห้ามขายแอลกอฮอล์ให้

- บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี 

- บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้

​ทั้งนี้ หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ลักษณะที่ห้ามขายแอลกอฮอล์

- ห้ามใช้เครื่องขายอัตโนมัติ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- เร่ขาย 

- ลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย

- ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชนการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค/ชิงรางวัลหรือสิทธิประโยชน์อื่นใด เป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อหรือผู้นำหีบห่อ/สลาก/สิ่งอื่นใดมาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ

- แจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น/การให้บริการอย่างอื่น แจกจ่ายให้เป็นตัวอย่าง หรือเป็นการจูงใจให้บริโภค/กำหนดเงื่อนไขการขายที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

​ทั้งนี้ หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

และห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งหากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

  • ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการขายสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม​​

​นอกจากเจ้าของธุรกิจที่ขายสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกรมสรรพสามิตแล้ว เมื่อดำเนินธุรกิจจนมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย

โดยให้ยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อพร้อมกับออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อส่งมอบสินค้าทุกครั้ง รวมถึงนำส่งให้กรมสรรพากรทุกเดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

– ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อมีการขายสินค้า

– รวบรวมเอกสารใบกำกับภาษีฝั่งซื้อ เพื่อนำมาใช้เครดิตภาษีขาย หรือขอคืนภาษีซื้อ

– ทำรายงานสรุปรายการภาษีซื้อ ภาษีขาย สินค้าคงเหลือ และวัตถุดิบ

– ส่งยื่นแบบ ภ.พ.30 แก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะมีหรือไม่มีการซื้อขายก็ตาม หากยื่นออนไลน์เพิ่มระยะเวลาในการยื่นอีก 8 วัน  

2.ภาษีเงินได้

​สำหรับรายได้ที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจขายสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีเรื่องเกี่ยวกับภาษีเงินได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยแยกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

2.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เจ้าของธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรา 40(8) ซึ่งยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ

​- ภาษีครึ่งปี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เฉพาะรายได้ 6 เดือนแรก ยื่นแบบฯ ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนของปีนั้นๆ 

- ภาษีสิ้นปี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 นำรายทั้งหมดของปีที่แล้ว รวมทั้งรายได้ที่ยื่นไปแล้วใน ภ.ง.ด.94 ด้วย แล้วค่อยหักภาษีที่จ่ายไปแล้วตอนครึ่งปีออกตอนคำนวณภาษี โดยให้ยื่นแบบฯ ช่วงระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม ของทุกปี​

โดยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ที่นี่

2.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าของธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องยื่นแบบชำระภาษีต่อกรมสรรพากรปีละ 2 ครั้ง คือ

- ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี

- ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ตอนสิ้นรอบเวลาบัญชี

สรุป

เมื่อสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นสินค้าที่อันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค และผู้อื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากความมึนเมานี้ จึงต้องอยู่ในความควบคุมของกฎหมาย และใช้มาตรการทางภาษีในการควบคุมการบริโภค และนำภาษีมาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสังคม ในการสร้างโรงพยาบาล จ้างแพทย์เพื่อรักษาผู้คนที่เจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุอันเกิดจากการบริโภคสุรา

ดังนั้น ผู้ที่กำลังจะทำธุรกิจเกี่ยวกับสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด อีกทั้งเรื่องของการจดทะเบียนพาณิชย์ การขออนุญาตที่กรมสรรพสามิต และการเสียภาษีให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็ช่วยทำให้ธุรกิจดำเนินการต่อได้อย่างราบรื่น และช่วยลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ไม่มากก็น้อย  ​

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่