สรรพากรเตรียมจัดระเบียบโทเคนดิจิทัลหวังลดอุปสรรคภาษีเป็นธรรม
กรมสรรพากร เตรียมจัดประเภทโทเคนดิจิทัล เพื่อลดอุปสรรคในการพัฒนาและทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเร็วๆนี้จะออกหลักเกณฑ์บังคับใช้
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมสรรพากร เตรียมจัดประเภทโทเคนดิจิทัลเพื่อลดอุปสรรคในการพัฒนา และทำให้การจัดเก็บภาษีไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิตอลประเภทนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากโทเคนฯบางประเภท อาจไม่จำเป็นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจาก จัดอยู่ในประเภทสินทรัยย์ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือบางประเภทไม่ต้องเสียภาษีเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ
เขากล่าวว่า พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิตอล ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของไทย ซึ่งเรามองว่า โทเคนฯทุกเหรียญมีความเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วเหรียญ มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น เป็นลักษณะ Investment Token หรือเป็นUtility Token ดังนั้น โทเคนฯจึงไม่ได้มีแบบเดียว
ดังนั้น ในเร็วๆนี้กรมสรรพากรจะออกหลักเกณฑ์ในการแยกประเภทของโทเคนฯ โดยขึ้นอยู่กับว่า โทเคนฯประเภทนั้น จัดเข้าอยู่ในประเภทสินทรัพย์ใด เช่น หากเหรียญโทเคน มีการเทรดเหมือนหุ้น ก็จะเก็บภาษีเหมือนเป็นหุ้น หรือจัดเป็นประภทหุ้นกู้ก็จะจัดเก็บภาษีในฐานะหุ้นกู้ เป็นต้น
เขากล่าวว่า ปัจจุบัน เรามีความเข้าใจในโทเคนฯแต่ละประเภทมากพอสมควร อาจจะมีบางโทเคนฯเช่นUtility Token ที่เราอาจจะยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนว่ามันทำหน้าที่อะไร เนื่องจากมันสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมานี้ ครม.ได้เห็นชอบมาตรการภาษีคริปโตเคอเรนซี เพื่อช่วยมาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการทำธุรกรรมคริปโตเคอร์เรนซีบนตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (CBDC) ตามโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึง การอนุญาตให้หักผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนออกจากกำไรการขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน ตั้งเม.ย.ปีนี้จนถึงสิ้นปี 2566
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนจากประชาชน และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทย ทำให้มีการประกอบธุรกิจหรือการดำเนิน กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
ดังน้ัน เพื่อให้มีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และรองรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนอันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กิจการที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลายประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจเกิดความโปร่งใส และป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทำการหลอกลวงประชาชนหรือประกอบอาชญากรรม ตลอดจนมีกลไกในการดูแลรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงได้มีการตราพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2018 ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลการระดมทุนต่อประชาชนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพ.ค.2561
สาระสำคัญของกฎหมาย พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการระดมทุนต่อประชาชนผ่านการเสนอขาย โทเคนดิจิทัล การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล สินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) ที่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชกำหนดนี้ได้แก่คริปโทเคอร์เรนซีและ โทเคนดิจิทัล ซึ่งมีลักษณะดงัต่อไปนี้
1.”คริปโทเคอร์เรนซี” คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่าย อิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือ สิทธิอื่นใดหรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่น ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดเพิ่มเติม
2.”โทเคนดิจิทัล” คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือกำหนดสิทธิ ในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง
ทั้งนี้ที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและ ผู้ถือ และหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศกำหนดให้คริปโทเคอร์เรนซีที่ผู้ออกมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนจาก ประชาชนและมีการกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ หรือมีการกำหนดสิทธิ ในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใด ๆ ถือเป็นโทเคนดิจิทัลด้วย