ธปท. หวั่น ‘สินเชื่อซื้อก่อนผ่อนทีหลัง’กระตุ้นครัวเรือนใช้จ่ายเกินตัว
ธนาคารพาณิชย์-นอนแบงก์ รุกหนักตลาดนี้มากขึ้น “แบงก์ชาติ”จับตาดูใกล้ชิด หวั่นสร้างพฤติกรรมก่อหนี้เกินตัวดันหนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูด ย้ำหากเริ่มเห็นปัญหาสั่งคุมทันที ด้าน “เครดิตบูโร” ห่วงซ้ำเติมปัญหาหนี้เสีย
ปัจจุบันการให้บริการสินเชื่อในรูปแบบ Buy Now Pay Later หรือ BNPL หรือ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้น หลังผู้ให้บริการทางการเงินจำนวนมาก ทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร(นอนแบงก์) ออกมาแข่งกันทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการลดภาระการใช้จ่าย แทนการจ่ายเงินก้อนเดียว ให้มีทางเลือกในการผ่อนชำระมากขึ้น
อย่างธนาคารที่ลงมาเล่นผลิตภัณฑ์นี้ เช่น ธนาคารกสิกรไทย ที่ให้สินเชื่อผ่าน K PAY LATER โดยให้วงเงินสูงสุดถึง 20,000 บาท เพื่อใช้ผ่อนสินค้าบริการที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการกำหนดดอกเบี้ยไม่เกิน 25% และระยะข้างหน้าจะมีการขยายบริการ BNPL ไปสู่ LINE BK ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทยด้วย
นอกจากนี้ ยังมี True money wallet ที่กระโดดลงมาเล่นบริการนี้ผ่าน “เพย์ เน็กซ์(PAY NEXT) เงินติดมือ วงเงินใช้ก่อน จ่ายทีหลัง ผ่านแอปทรูมันนี่
และที่เคยเห็นหน้าค่าตากันอยู่แล้วผ่าน อีคอมเมิร์ซ คือ Shopee ที่มีการให้บริการ สินเชื่อ Shopee SPayLater ช้อปก่อนจ่ายทีหลังด้วย รวมถึง บริษัทฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ที่อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ด้วยในปลายปีนี้
มูลค่าตลาดBNPLพุ่ง6.5หมื่นล้าน
นายสุคนธ์พัฒน์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่มีแบงก์ นอนแบงก์ หันมาทำแคมเปญ BNPL หรือ สินเชื่อใช้ก่อนผ่อนทีหลังมากขึ้น ในด้านความเสี่ยงด้านหนี้ภาคครัวเรือน มองว่า ปัจจุบันความเสี่ยงของ BNPL ต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทยในภาพรวมยังค่อนข้างจำกัด เพราะถ้าดูขนาดของธุรกรรมเปรียบเทียบกับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับต่ำ
โดยขนาดของธุรกรรมปี 2565 อ้างอิงจาก Thailand BNPL Market Report 2022 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 55,000-65,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม
ขณะที่ รูปแบบการให้สินเชื่อบางส่วนเป็น Digital P-loan ซึ่งเข้าข่ายสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. โดยคิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินเพดานที่ 25% ต่อปี และมีการกำหนดวงเงินต่อรายต้องไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นการจำกัดการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนได้บางส่วน
หวั่นครัวเรือนใช้จ่ายเกินตัว
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ BNPL มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และอาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวของครัวเรือนได้ เนื่องจากธุรกิจ BNPL มีลักษณะเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว เพราะเป็นธุรกรรมการซื้อขายที่ผูกกับ online purchase ผ่าน e-commerce platform
นอกจากนี้ ยัง มีลักษณะที่ช่วยเพิ่ม consumer experience โดยทำให้การทำธุรกรรมซื้อขาย online มีความต่อเนื่องและคล่องตัวมากขึ้น (seamless consumer journey)
ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาจ lose track ในการติดตามจ่ายหนี้ ประกอบกับยอดชำระหนี้ต่อการซื้อในแต่ละครั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่มักพบในต่างประเทศ และท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การใช้สินเชื่ออื่น เช่น O/D และ P-loan เพื่อนำมาชำระหนี้
ดังนั้น ธปท. จึงติดตามพัฒนาการของตลาด BNPL อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์จากการซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระกับธุรกิจ BNPL ขณะที่ความเสี่ยงของธุรกรรมดังกล่าวได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ธปท.เกาะติดห่วงกระทบหนี้ครัวเรือน
. ทั้งนี้ หาก ธปท. เห็นว่าธุรกรรม BNPL อยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม หรือ การให้บริการที่ไม่เป็นธรรมในวงกว้าง ธปท. จะพิจารณาประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสมร่วมกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจที่ให้ความสนใจเข้ามาหารือ ธปท. หลายราย โดยการประกอบธุรกิจ BNPL มีทั้งผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ซึ่งพบเห็นได้ตาม website ขายสินค้าทั่วไปและ e-commerce platform ต่าง ๆ เช่น บริการ “S-pay later” จากแอพ Shoppee หรือบริการ “ช็อปตอนนี้ จ่ายทีหลัง” จาก Atome
สำหรับผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่สามารถให้บริการในลักษณะ BNPL ได้ โดยในจำนวนนี้ บางรายมีการให้บริการ BNPL ด้วย เช่น บริการ “K-pay later” ของธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (non-bank) ธปท. จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ ผู้บริหารต้องผ่านหลักเกณฑ์ fit & proper เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่จะมาประกอบธุรกิจมีธรรมาภิบาลที่ดีในการประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ ธปท. จะพิจารณารูปแบบธุรกิจ การนำข้อมูลทางเลือก มาใช้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค และการรักษาความปลอดภัยของระบบงานให้เป็นไปตามที่ ธปท. กำหนดด้วย
เครดิตบูโรห่วง BNPLซ้ำเติมหนี้เสียครัวเรือนพุ่ง
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า BNPL หากในแง่ประโยชน์ ถือเป็นสินเชื่อที่ช่วยตอบโจทย์การชำระเงิน ช่วยให้คนมีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น ซึ่งหากซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ในวงเงินไม่สูงมาก คงไม่เกิดปัญหาในการผ่อนชำระ หรือการเลือกผ่อนชำระผ่านบัตรเดบิตที่ตัดผ่านบัญชีธนาคารเมื่อครบดีล
แต่ที่เป็นประเด็นน่ากังวล คือ การผ่อนชำระในวงเงินมากๆ อาจทำให้เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตามมาได้ และยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้เสียของ สินเชื่อบุคคลให้ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะปัจจุบันประเทศไทย มีปัญหาการบริโภคเกินขนาดอยู่แล้ว ดังนั้นตัวนี้อาจเป็นตัวเร่ง ให้เกิดการสร้างหนี้ และสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นได้ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากจะให้เป็นประโยชน์ มองว่า ควรทำผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ กลุ่มที่ต้องการลดภาระ เช่นกลุ่มเอสเอ็มอี และควรลดดอกเบี้ยลงมา ให้ต่ำกว่า 12% จากปัจจุบันที่ 25% เพื่อให้เอสเอ็มอีมีช่องทางในการชำระเงิน และซื้อของมาค้าขายได้ก่อน
“ปัญหาที่น่าคิด คือ การหันมาทำ ช้อปก่อนผ่อนทีหลัง หรือ ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง จะทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่ เพราะบ้านเราบริโภคเกินขนาดเกินความจำเป็น ทำให้หนี้บุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้เสีย และตัวนี้ก็เป็นหนึ่งตัวที่แฝงอยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งก็น่าห่วง”