จับสัญญาณสำคัญ ส่งท้ายปี 2022
ในตอนนี้ เราก็เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายของปี 2022 กันแล้ว สำหรับการลงทุน ปีนี้ถือได้ว่าเป็นปีที่หนักหนาเอาการ เพราะไม่ว่าจะวางเงินลงทุนไว้ในสินทรัพย์ประเภทใด ก็ล้วนหลีกหนีภาวะขาดทุนได้ยาก ต่างเพียงจะขาดทุนมากหรือน้อยเท่านั้น
แม้แต่น้ำมันที่เคยเป็นสินทรัพย์ผู้ชนะในช่วงต้นปี ราคาก็ปักหัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลัง จากระดับ 120 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ราว 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนสินทรัพย์ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ถือครองอย่างหุ้นโลก และตราสารหนี้ ราคาก็ล้วนปรับตัวลงแรง ถือว่าเป็นเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นเพียง 3 ปี ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา ที่ผลตอบแทนทั้งจากหุ้นและตราสารหนี้ลดลงพร้อมๆ กัน
ปัจจัยกดดันที่จะติดตามนักลงทุนไปในปีหน้า คงหนีไม่พ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะในเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก จากการประเมินสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน คาดว่าจะเป็นเพียงภาวะถดถอยระดับปกติ ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจโลกดังที่เกิดขึ้นในปี 2008 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกไว้ราว 2.7% ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 3.2%
สำหรับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ IMF คาดว่าจะเศรษฐกิจจะโตเพียง 1% ลดลงจาก 1.6% ในปีนี้ ส่วนภูมิภาคยุโรป คาดว่า GDP จะติดลบเล็กน้อยในบางประเทศ เช่น เยอรมนี และอิตาลี ซึ่งสถานการณ์นี้จะกดดันกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอนาคตให้ชะลอตัวลงได้อีก
แม้จะมีความเสี่ยงข้างต้น แต่นักลงทุนก็เริ่มมีความหวังว่าภาพรวมการลงทุนในปี 2023 จะค่อยๆ ดีขึ้น จากสัญญาณ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพ.ย. ลดลงสู่ระดับ 7.1% เมื่อเทียบปีต่อปี นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากจุดสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิ.ย. โดยมีตัวดึงลงที่สำคัญจากราคารถยนต์มือสองและพลังงาน ด้านราคาภาคบริการก็ปรับขึ้นน้อยที่สุดนับจากเดือนก.ค. นอกจากนั้น ค่าเช่าบ้านที่เคยผลักเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงแล้ว
ตามมาติดๆ ด้วยสัญญาณที่สอง จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 13-14 ธันวาคม ที่ FED มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% หลังจากที่ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันถึง 4 ครั้ง และได้ปรับคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดในวัฎจักรนี้ (Terminal rate) เป็น 5.10% จาก 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนก.ย.
พร้อมทั้งย้ำว่าจะไม่ลดดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นโอกาสที่แนวโน้มเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งถ้อยแถลงที่ค่อนข้างไปทางเข้มงวด (Hawkish) ของประธาน FED ยังไม่ทำให้ตลาดเปลี่ยนมุมมองว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงจุดสูงสุดที่ 4.87% ในไตรมาส 1/2023 และหากเงินเฟ้ออ่อนตัวลงต่อเนื่อง FED จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมครังถัดไป
ด้านประเทศจีนที่มีข่าวร้ายมาตลอดปี ในช่วงปลายปีก็มีสัญญาณบวกขึ้น โดยล่าสุดรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม เช่น ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิดสามารถกักตัวที่บ้านได้ กำหนดพื้นที่เสี่ยงเป็นวงที่แคบลง เช่น เป็นระดับตึก ชั้น แทนที่จะเป็นระดับชุมชน และยกเลิกการระดมตรวจหาเชื้อ
นอกจากนี้ การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ (Politburo) ในวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังตอกย้ำการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ และมีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดยังส่งสัญญาณอ่อนแรงลงต่อเนื่อง ทั้งยอดการปล่อยสินเชื่อ ตัวเลขภาคอุตสาหกรรม ยอดส่งออก โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศที่ซบเซาจากมาตรการควบคุมโควิด
เบื้องต้น สัญญาณเชิงบวกที่เกิดขึ้นส่งผลดีต่อการลงทุนในตราสารหนี้ โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 4.2% มาอยู่ที่ 3.5% ทำให้ราคาตราสารหนี้ฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง ด้านหุ้นโลกและหุ้นจีนก็รีบาวด์ได้เช่นกันหลังจากปรับลงแรงมาตลอดปี
ด้วยภาพรวมการลงทุนที่เริ่มดีขึ้น เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนที่ถือเงินสดในสัดส่วนสูงควรทยอยสะสมกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกที่มีผู้เชี่ยวชาญบริหารเชิงรุก และกองทุน Hedge Fund ที่มีกลยุทธ์จับสัญญาณการซื้อขายรายวินาทีด้วย Algorithm เพื่อซื้อ (Long) และขาย (Short) หุ้นสหรัฐ เพื่อเป็นขุมทรัพย์การลงทุนส่งท้ายปี 2022 นี้