ต้อนรับปีใหม่! ‘4 แบงก์’ ขึ้นดอกเบี้ยกู้ 0.4% ต้นทุนพุ่งจากเงินนำส่ง FIDF
4 แบงก์พาณิชย์ รายใหญ่ อั้นไม่ไหว แห่ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ย “เงินกู้” เพิ่มขึ้นทันที 0.40% ก่อนปิดปีใหม่ หลังวันที่ 1 ม.ค.ปี 2566 เป็นต้นไป ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู เข้าสู่เพดานปกติที่ 0.46% หลังจากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ
ล่าสุด “สมาคมธนาคารไทย” ออกมาประกาศ สิ้นสุดมาตรการลดเงินนำส่งเข้าสู่กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ประกาศปรับลด “เงินสมทบ” เข้ากองทุนฟื้นฟู เหลือ 0.23% จากระดับ 0.46% เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม ตั้งแต่ 1เม.ย.2563
แต่ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ส่งผลให้ เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ธปท. มีทิศทางปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ในการประชุม 3 รอบสุดท้ายของปี ทำให้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันกลับมาอยู่ที่ระดับ 1.25%
อีกทั้ง ธปท. ระบุว่า เพื่อไม่ให้สร้าง “ภาระ” ต่อระบบการเงิน และ ระบบเศรษฐกิจไทย โดยไม่จำเป็น ธปท.จึงจะมีการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46%ต่อปี โดยจะมีผลตั้งแต่ 1ม.ค.2566 เป็นต้นไป
หลังจากสมาคมธนาคารไทย ประกาศไปเพียง 1 วัน 4 แบงก์ใหญ่ อย่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกสิกรไทย ปรับ “ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้” กันอย่างพร้อมเพรียง
นำร่องที่แบงก์ใหญ่อย่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” ประเดิมขึ้นดอกเบี้ยทันทีเป็นแบงก์แรก!
“กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ระบุว่า หลังจากธปท.ให้สถาบันการเงินกลับมาส่งเงินเข้า FIDF ในอัตราเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม MLR MOR และ MRR ในอัตรา 0.40% ต่อปี
ซึ่งเท่ากับอัตราที่ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลงตั้งแต่เริ่มมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้า FIDF นี้เมื่อเดือนเมษายน 2563
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.12% เป็น 6.52% ต่อปี
- อัตราดอกเบี้ย ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.75% เป็น 6.15% ต่อปี
- อัตราดอกเบี้ยที่ ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.345% เป็น 6.745% ต่อปี”
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ธนาคารกรุงไทย ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย “เงินกู้” เป็นแบงก์ที่สอง ที่ 0.40%
สอดคล้องกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจาก FIDF โดย “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากผลของการปรับลด เงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟู ตามมาตรการของ ธปท. ส่งผลให้ กรุงไทย มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.40% ไปแล้วในก่อนหน้านี้
ดังนั้น การปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เข้าสู่ระดับปกติ ส่งผลให้ ธนาคารกรุงไทย “จำเป็น” ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.40%
โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะขึ้นทั้ง ลูกค้ารายใหญ่ MLR ,MOR และMRR โดยอัตราดอกเบี้ย MLR มาอยู่ที่ 6.15% MOR 6.72% และ MRR 6.77% ต่อปี
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่ จะมีผลตั้งแต่ วันที่ 3 ม.ค.2566 เป็นต้นไป
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน 0.40%
“ไพโรจน์ ชื่นครุฑ” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องภาวการณ์ปัจจุบัน จากการปรับอัตราเงินนำส่งเข้า FIDF
โดยธนาคารได้มีการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาด และตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบแล้ว แม้จะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ธนาคารกรุงศรีฯ ยังคงมุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้ากลุ่มเปราะบางอย่างเหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ตามแนวทางการดำเนินงานของสมาคมธนาคารไทยต่อไป
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราใหม่ๆ ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.นี้
- อัตราดอกเบี้ย MLR เพิ่มขึ้น 0.40% เป็น 6.48%
- อัตราดอกเบี้ย MOR เพิ่มขึ้น 0.40% เป็น 6.725%
- อัตราดอกเบี้ย MRR เพิ่มขึ้น 0.40% เป็น 6.65%
“ธนาคารกสิกรไทย” ที่ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น สอดคล้องกับแบงก์ใหญ่อื่นๆ ที่ 0.40%
“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เพื่อส่งผ่านผลของนโยบายของ ธปท. กสิกรไทยจึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR 0.40%
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ปรับเพิ่มขึ้น 0.40% จาก 5.97% เป็น 6.37%
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ปรับเพิ่ม 0.40% จาก 6.34% เป็น 6.74%
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ปรับเพิ่ม 0.40% จาก 6.10% เป็น 6.50%
การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น จะมีผลตั้งแต่ 3 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ แม้ธนาคารจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางโดยจะพิจารณามาตรการความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบ และคำนึงถึงศักยภาพ และโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต
เชื่อว่า หลังจากนี้จะเห็นจะเห็นแบงก์ใหญ่ แบงก์เล็กๆ ทยอยประกาศปรับ “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้” เช่นเดียวกัน ให้สอดคล้องกับธนาคารใหญ่ๆ และสอดคล้องกับภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจาก เพดานดอกเบี้ย FIDFที่จะเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์