รู้จัก Local Currency Service เครื่องมือตอบโจทย์ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
การดำเนินธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเงินโลกเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยามที่ค่าเงินเผชิญกับความผันผวนมาก
ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็คงไม่พ้นผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าที่ต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางความผันผวนอยู่ตลอดเวลา การนำพาธุรกิจฝ่ามรสุมความผันผวนแม้มิใช่เรื่องง่าย แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไปที่จะสามารถรับมือ หากมีการใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม
เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินมีความหลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันประกอบด้วย 1) ทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) คือ การชำระเงินด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า 2) ทำประกันค่าเงิน (FX Options) มีลักษณะคล้ายการทำประกันรถ โดยหากค่าเงินในอนาคตแข็งค่าหรืออ่อนค่าไปกว่าอัตราที่ทำไว้ ผู้ทำประกันสามารถขอเคลมเพื่อรับส่วนต่างได้ 3) ใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD)เป็นการเปิดบัญชีและฝากเงินสกุลต่างประเทศไว้ในธนาคาร หากผู้ประกอบการมีทั้งรายรับและรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกันก็สามารถนำเงินฝากในบัญชี FCD ที่มีอยู่ไปชำระค่าสินค้า โดยถอนเงินจากบัญชี FCD ไปชำระได้เลย
และ 4) ทำการค้าด้วย เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) โดยตั้งราคาซื้อขายสินค้า (Invoicing Currency) เป็นเงินบาทหรือใช้เงินสกุลท้องถิ่นอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินสกุลท้องถิ่นส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท ตัวอย่างเช่น การที่ส่งออกสินค้าไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ตั้งราคาและรับชำระเป็นเงินบาท การที่ผู้นำเข้าชาวไทยใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถรับมือความผันผวนของค่าเงินได้ ซึ่งจะอธิบายในรายละเอียดต่อไป
การชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศยังคงพึ่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเกือบ 80% ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาลดลงเหลือ 16% ปัจจุบันเงินดอลลาร์สหรัฐยังเป็นสกุลเงินที่ใช้กำหนดราคากลางเพื่อชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศมากที่สุด และเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการชำระเงินของไทย ด้านการนำเข้าโดยชำระเงินด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 79% (เงินบาท8%, เงินเยน 6%) และการส่งออกอยู่ที่ 77% (เงินบาท 16%, เงินเยน 3%) ในขณะที่ตลาดการค้าของไทยไม่ได้พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ มากเท่าในอดีต
โดยปัจจุบันอยู่ที่ 16% หากแต่มีตลาดการค้าใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน (25%) และ จีน (12%) เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างการชำระเงินค่าสินค้าส่งออกของไทยกับอาเซียน ประกอบด้วยดอลลาร์สหรัฐ73% เงินบาท 24% ในทำนองเดียวกับฝั่งสินค้านำเข้า ประกอบด้วยดอลลาร์สหรัฐ 83% เงินบาท 13%
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่ง ซึ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เริ่มแผ่วลง ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง และเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น หากมองเป็นค่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน(Annualized SD THB/USD) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 5.5% และเพิ่มขึ้นเป็น 12% ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา ในขณะที่ค่าเงินบาทกับเงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาคมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปด้วยกัน อาทิ เงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ หยวนของจีน ริงกิตของมาเลเซีย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย
Local Currency ตอบโจทย์ผู้ประกอบการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การใช้เงินสกุลท้องถิ่น ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีความผันผวนสูง โดยหากเป็นธุรกิจนำเข้าจะสามารถซื้อของได้ถูกลง เนื่องจากคู่ค้าไม่จำเป็นต้องเผื่อต้นทุนบริหารความเสี่ยงกับความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก เช่นเดียวกับในมุมธุรกิจส่งออกจะสามารถตั้งราคาขายให้ง่ายหรือถูกลง ไม่ต้องเผื่อต้นทุนสินค้าเพื่อบริหารความเสี่ยงกับความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเจรจาต่อรองกับคู่ค้าเพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มการผลิตได้ ทำให้เจรจาการค้าง่ายขึ้นและขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นเพราะมีทางเลือกให้คู่ค้าสามารถเลือกสกุลเงินที่ตนเองต้องการ
นอกจากนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง การใช้เงินสกุลท้องถิ่นนั้นจะเป็นประโยชน์สนับสนุนการเติบโตของการค้าระหว่างกัน ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยกับมาเลเซีย ทั้งสองประเทศมีการค้าที่ค่อนข้างสมดุล สินค้าที่ไทยส่งออกไปกับนำเข้ามีมูลค่าใกล้เคียงกัน แต่ในการชำระเงินมักกำหนดราคาในรูปแบบของเงินดอลลาร์สหรัฐหรือดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการแปลงสกุลเงินท้องถิ่นเป็นดอลลาร์สหรัฐและแปลงดอลลาร์สหรัฐกลับเป็นสกุลเงินท้องถิ่น การใช้เงินริงกิตและเงินบาททำธุรกรรมการค้าและการลงทุน ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกที่ดีให้กับผู้ประกอบการไทยและมาเลเซียในการลดส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินสกุลหลัก
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ยังคงผันผวนต่อเนื่อง จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในการรับมือ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่า ก่อนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย กอปรกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดี หนุนด้วยภาคท่องเที่ยวจากการที่จีนประกาศเปิดประเทศตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมกลับมากว่า 60% ของก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเป็นปัจจัยหนุนทำให้แนวโน้มเงินบาท ณ สิ้นปี 2566 เคลื่อนไหวที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ตลาดการเงินโลกในปัจจุบัน การกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนโดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ในการทำธุรกรรมทางการค้าและการเงินระหว่างประเทศ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าบริหารต้นทุนในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าภายในภูมิภาคได้ดีขึ้น ตลอดจนนักลงทุนในตลาดการเงินลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินหลักได้