สมาคมธนาคารไทย เร่งผุด ‘ศูนย์ตรวจจับฉ้อโกง’ ป้องมิจฉาชีพลวงผ่านออนไลน์

สมาคมธนาคารไทย เร่งผุด ‘ศูนย์ตรวจจับฉ้อโกง’ ป้องมิจฉาชีพลวงผ่านออนไลน์

สมาคมธนาคารไทย เร่งผลักดัน ศูนย์ตรวจจับฉ้อโกง ตรวจจับความเสี่ยง จากการทำธุรกรรมทางการเงินบนดิจิทัล หลังช่วยเหลือ บรรเทา ลดผลกระทบจากมิจฉาชีพหลอกลวง

       ภายใต้กระแสการเติบโตของ “ดิจิทัล” ที่ก้าวหน้า และช่วยยกระดับชีวิตของประชาชน ให้มีความสะดวกสบายขึ้น ในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่มาควบคู่กัน ภายใต้ความสะดวกสบายคือ “ภัยทางการเงิน” ที่ล้ำหน้า ก้าวหน้า และหาตัวจับได้ยากมากขึ้นเช่นเดียวกัน

      “ภัยทางการเงิน” ในปัจจุบัน มีแพร่หลาย หลากหลายมากขึ้น ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี มีทั้งภัยทางการเงิน จากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ หรือภัยที่มาจาก “โทรศัพท์” หรือการถูกหลอกลวงให้โอนเงิน ผ่าน “บัญชีม้า” หรือบัญชีของผู้อื่นๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้ มาเป็นทางผ่าน ในการโอนเงินจากการหลอกลวง การทุจริตทางการเงิน เพื่อโอนเงินไปยังบัญชีปลายทางอื่นๆ เหล่านี้นำมาสู่ ความเสียหายต่อผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างมากในปัจจุบัน
 

       สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ คือการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ผ่านการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตแบงกิง หลังผู้ใช้บริการทางการเงิน เข้าใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิง ผ่านเว็บไซต์ ที่มิจฉาชีพปลอมขึ้นมา ใกล้เคียงกับเว็บไซต์ของธนาคาร และนำข้อมูลไปสวมรอยเพื่อทำรายการโอนเงินของลูกค้าโอนเงินออกเกลี้ยงบัญชี!

     ล่าสุด “ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL" ออกมาเตือนลูกค้า ที่ทำธุรกรรมการเงินผ่าน “อินเทอร์เน็ตแบงกิง” ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเข้าใช้งาน โดยการพิมพ์ URL หรือที่อยู่ตำแหน่งของเว็บไซต์ของธนาคารด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันการแฝงมาของมิจฉาชีพ

.   ที่สำคัญ ตัวผู้ใช้บริการทางการเงิน ต้องปกป้องรักษาข้อมูลส่วนตัวอย่างระมัดระวังที่สุด ไม่เปิดเผยพาสเวิร์ด หรือกรอก OTP หรือ PIN โดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจน นอกจากนี้ วิธี “เลี่ยง” หรือป้องกันการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง คือการไม่กรอก ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินลงในเว็บไซต์ หรือผูกบัญชีกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ผู้ใช้ไม่คุ้นเคย ก็เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยป้องกันการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้

     ด้าน ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในด้านสมาคมธนาคารไทย มีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อป้องปราบการทุจริต การถูกฉ้อโกง หรือFraud ให้ลดลง ล่าสุด สมาคมธนาคารไทย ร่วมกับธนาคารสมาชิก อยู่ระหว่างหารือ เพื่อผลักดันให้มี “Central Rraud Registry” หรือศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยง จากการถูกฉ้อโกง ให้เป็นอีกระบบกลาง ที่จะทำหน้าที่ “ดักจับ” การหลอกลวงทางการเงินที่เข้ามาในหลากรูปแบบ เพราะสมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงภัยที่เข้ามา

     ดังนั้นหากแต่ละแบงก์ ต่างคนต่างทำ ก็อาจเปลืองทั้งทรัพยากร และประสิทธิภาพก็อาจไม่เท่า การมีระบบกลาง

       ศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยงนี้ คือระบบกลาง อีกระบบ ที่จะถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งบทบาทจะแตกต่าง TB-CERT หรือ ศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ถูกตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยหน้าที่หลักของ TB-CERT หลักๆจะดูเรื่องแฮกเกอร์เป็นหลัก

      ดังนั้นจำเป็นที่ต้องมี ศูนย์ข้อมูลกลางขึ้นมาอีกระบบ ผ่านศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ป้องกัน ป้องปราบตรวจจับความเสี่ยงจากภัยทางการเงินมีความครอบคลุมมากขึ้น ​​ 

     “ศูนย์เช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยง ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ แต่จะเร่งทำ เพราะการเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการทำงานร่วมกันกับหลายฝ่าย ทั้งระบบธนาคาร ITMX ที่ทำระบบกลาง และตัวระบบ ที่ต้องใช้เวลาสร้างขึ้นมา ซึ่งยังให้คำตอบไม่ได้ว่า จะเกิดขึ้นได้เร็วช้าแค่ไหน”

     ทว่าแม้ศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยงจะยังไม่เกิดขึ้น แต่การทำงานของ “สมาคมธนาคารไทย”ก็ถือเป็นการทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ในการป้องปราบการฉ้อโกงทุกรูปแบบ โดยอาศัยการร่วมมือกับ หน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.),สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัล(ดีอี) เพื่อดูแล ป้องกันการฉ้อโกงผ่านธุรกรรมทางการเงินบนช่องทางออนไลน์ให้มากที่สุด

      ผยง เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่จะป้องกันการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ป้องกันการถูกล้วงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินได้ คือ การให้ความรู้ทางการเงินประชาชน เพื่อให้ประชาชน รู้ เท่าทัน การฉ้อโกงผ่านออนไลน์ รวมถึงการ “แจ้งเตือน”จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล และภัยทางการเงินใหม่ๆมากขึ้น

      โดยที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทย ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อช่วยปัองกันภัยทางการเงินที่เข้ามาหลากรูปแบบ และช่วยหยุดยั้งการโอนเงินข้ามบัญชี (บัญชีม้า)อย่างรวดเร็วเพื่อลด และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

      “จุดที่ยาก สำหรับในมุมของแบงก์  เมื่อเกิดภัยทางการเงินแล้ว คือแบงก์ไม่รู้ว่าจะเข้าไปรับผิดชอบได้อย่างไร เพราะคนที่ทำธุรกรรมทางทางการเงิน เป็นตัวเจ้าของบัญชี ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องระวัง ไม่เผลอกด กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และกรอก OTP หรือPIN ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นวันนี้ ที่เป็นปัญหาซ้อนกันคือ บัญชีม้า ที่เกิดจากการยินยอมพร้อมใจของเจ้าของบัญชี โดยการเปิดบัญชีแล้วขาย เพื่อให้มิจฉาชีพนำไปใช้ทั้งในไทยและต่างประเทศ”

      ท้ายที่สุดแล้ว การป้องกันภัยทางการเงิน ป้องกันทุจริต ฉ้อโกงทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ถือเป็นความท้าทายมาก สำหรับผู้วางนโยบายทั้งสมาคมธนาคารไทย หรือหน่วยงานต่างๆ 

     เพราะสิ่งที่ท้าทาย นอกจากการมี “ระบบ” การตรวจจับ “การฉ้อโกงทางการเงิน”ที่แม่นยำ ที่สามารถป้องกันถูกหลอกลวงแล้ว ยังต้องทำงานแข่งกับเวลา และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้วย ที่นับวัน มีแต่วิ่งเร็ว ล้ำหน้ามากขึ้น ทำให้การหลอกลวงของมิจฉาชีพมีการพัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ จนหาตัวจับได้ยาก"